แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารจ่ายเงินไปตามเช็คที่ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนั้น ธนาคารจะอาศัยสิทธิทำให้เช็คนั้นหลุดพ้นด้วยการจ่ายเงินหรือธนาคารจะใช้สิทธิหักเงินที่จ่ายจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายย่อมไม่อาจจะทำได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ธนาคารย่อมเป็นผู้ต้องรับผิดเอง โดยจะหักเงินนั้นจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายหาได้ไม่
เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมกับเช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงินผู้สลักหลังปลอมนั้นหาเหมือนกันไม่เช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงินหรือผู้สลักหลังปลอมนั้น ตามมาตรา 1009 ธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงินหรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆ ได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจ แต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอม หรือปราศจากอำนาจก็ตาม ถ้าหากธนาคารได้จ่ายเงินไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านก็ให้ถือว่า ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยถูกระเบียบ เมื่อพิจารณามาตรา 1008 และ 1009 เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะแลเห็นได้ชัดว่า กฎหมายประสงค์ให้ธนาคารใช้ความระมัดระวังในเรื่องลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายยิ่งกว่าในเรื่องลายมือชื่อของผู้รับเงิน หรือผู้สลักหลัง และกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ธนาคารที่จ่ายเงินไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตปราศจากประมาทเลินเล่อก็แต่ในกรณีที่ลายมือชื่อผู้รับเงินหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอมเท่านั้น ส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนั้นกฎหมายหาได้ให้ความคุ้มครองอย่างเดียวกันไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2490 โจทก์ยังคงมีเงินอยู่ที่จำเลย 86,715 บาท โจทก์ได้เขียนเช็คเลขที่ 277237 ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ไปเพื่อจ่ายเงิน 86,715 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2490 ผู้ถือเช็คของโจทก์นำไปให้จำเลยจ่ายเงินอีก จำเลยก็ไม่จ่าย กลับแจ้งให้แก่ผู้ถือเช็คของโจทก์ว่าให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่าย ซึ่งความจริงเงินของโจทก์ยังคงมีอยู่ที่จำเลย 86,715 บาท โจทก์ได้เพียรไปติดต่อให้จำเลยจ่าย จนบัดนี้จำเลยก็ไม่ยอมจ่ายเงินให้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 86,715 บาท และค่าเสียหายในการที่โจทก์จะต้องจ่ายใช้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ คือ ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งในเงิน 86,715 บาท และค่าที่ทำให้โจทก์เสียหายในความเชื่อถือซึ่งโจทก์ประกอบกิจในการค้ามาคิดเป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยที่ 2, 3 ต่อสู้ว่า ไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์เป็นเจ้าของร้านแป้งแม่พร ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินเกินบัญชีร้านแป้งแม่พร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2490ได้มีผู้นำเช็คเลขที่ 277237 มาขอรับเงินจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 86,715 บาท แต่บัญชีร้านแป้งแม่พรไม่มีเงินในบัญชีถึงจำนวนที่ปรากฏในเช็ค จึงคืนเช็คไป ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2490 ได้มีผู้นำเช็คดังกล่าวมาขอรับเงินจากจำเลยที่ 1 อีก จำเลยที่ 1 ก็ได้คืนเช็คให้ไปอีกเพราะไม่มีเงินในบัญชีจากร้านแป้งแม่พรพอกับจำนวนเงินที่ปรากฏในเช็ค และยิ่งกว่านั้นบัญชีร้านแป้งแม่พรยังเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 ถึง 20,000 บาทเศษ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหาย จำเลยรับว่าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2490 มีเงินของโจทก์ในนามร้านแป้งแม่พรฝากธนาคารจำเลย 86,715 บาท เป็นเช็คธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มาที่ธนาคารจำเลยในตอนบ่ายตามระเบียบของธนาคารจำเลย เงินนี้ต้องเข้าบัญชีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้โจทก์จะยังขอเบิกไม่ได้ต้องรอถึงวันที่ 7 หรือต่อ ๆ ไปจึงจะเบิกได้ แต่ในวันที่ 6 นั้นเองโจทก์ส่งเช็คมาเบิกเงินจำนวน 86,715 บาท คือเงินที่เข้าบัญชีในวันที่ 5 ตอนบ่ายทั้งหมดธนาคารจำเลยไม่ยอมจ่ายด้วยเหตุ 2 ประการคือ
1. ในวันที่ 6 นั้น โจทก์ยังไม่มีสิทธิเบิก
2. โจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารจำเลยอยู่ 22,372 บาท 55 สตางค์ซึ่งธนาคารมีสิทธิหักเงินรายนี้ได้ และธนาคารได้หักเอาใช้หนี้เสียคงเหลือเงินอยู่เพียง 66,324 บาท ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 มีเช็คของโจทก์เลขที่ 277240 มาขอเบิกเงินจำนวน 86,715 บาท ธนาคารของจำเลยได้ยอมจ่ายเงินให้ไปแล้ว โจทก์คงยังเป็นหนี้ธนาคารจำเลยอยู่ตามเดิม คือเงินจำนวนเงิน 23,372 บาท 55 สตางค์ ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2490 มีเช็คของโจทก์ที่มาเบิกเงินเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งธนาคารไม่ยอมจ่ายข้างต้นมาขอเบิกเงิน ธนาคารจำเลยจึงปฏิเสธ เพราะไม่มีเงินของโจทก์แล้ว โจทก์แถลงว่าเช็คเลขที่ 277240 ได้ถูกลอบฉีกไปจากสมุดเช็คที่อยู่กับโจทก์ สำหรับลายเซ็นนายชาญ อากาศฤกษ์ นั้นเป็นลายเซ็นอันแท้จริง โดยนายชาญเซ็นเช็คไว้ก่อนเป็นจำนวนครึ่งเล่มสำหรับลายเซ็นของโจทก์กับตราร้านแป้งแม่พรนั้นปลอม แต่ทางธนาคารยืนยันว่าเป็นเช็คอันแท้จริงโจทก์แถลงรับว่าได้เป็นหนี้ธนาคารจำเลยตามจำนวนดังกล่าวจริงและทั้งโจทก์ จำเลยรับกันว่า ธนาคารจำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์เป็นลูกหนี้จากเงินที่โจทก์เข้าบัญชีฝากได้ ศาลชั้นต้นฟังว่าลายเซ็นของโจทก์กับตราร้านแป้งแม่พรนั้นปลอม แต่ลายเซ็นนั้นแนบเนียนคล้ายคลึงกันกับของจริงมาก แต่ตรามีลักษณะแตกต่างกัน แม้จะฟังว่าทั้งสองฝ่ายสุจริตด้วยกัน ก็ต้องปรับว่าโจทก์เป็นผู้เลินเล่อใกล้กว่าเป็นเหตุให้เกิดการเสียหาย ธนาคารหลงจ่ายเงินไป โจทก์ควรต้องเป็นฝ่ายรับบาปเคราะห์ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้อนุญาตจ่ายเงินของธนาคารจำเลยได้สั่งจ่ายไปโดยปราศจากความระมัดระวัง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบตามจำนวนเงินตามเช็คเลขที่ 277240 ซึ่งเป็นเช็คปลอม และโจทก์ต้องเสียหายตามฟ้อง จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้เกี่ยวข้องในการจ่ายเงินจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 86,715 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาทให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คเลขที่ 277240 ที่ธนาคารจำเลยจ่ายเงินไปนั้น เป็นเช็คที่มีลายมือชื่อของโจทก์และตราที่ประทับปลอมส่วนจำเลยยืนยันว่าเป็นเช็คอันแท้จริง จำเลยมิได้ต่อสู้ในที่ใดที่จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากเป็นเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมแล้วจำเลยก็ยังคงมีสิทธิที่จะหักเงินจำนวนนั้นจากบัญชีของโจทก์ได้ด้วยเหตุใดบ้าง ส่วนข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลายมือชื่อของโจทก์และตราที่ประทับทั้งสองอย่างปลอม ปัญหามีว่า การจ่ายเงินของธนาคารจำเลยไปตามเช็คเช่นว่านั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งธนาคารจำเลยมีสิทธิหักเงินที่จ่ายไปนั้นจากบัญชีโจทก์ได้จำเลยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 997 วรรค 3 เพื่อแสดงว่าการจ่ายเงินของธนาคารจำเลยเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 997 เป็นการเรื่องเกี่ยวกับเช็คขีดคร่อม ไม่เกี่ยวกับเช็คที่มีลายมือชื่อปลอม เช็คที่มีลายมือชื่อปลอมนั้น มาตรา 1008บัญญัติไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือปลอมลายมือชื่อนั้นก็เป็นอันใช้ไม่ได้ ธนาคารจำเลยจะอาศัยสิทธิทำให้เช็คนั้นเป็นอันหลุดพ้นด้วยการจ่ายเงิน หรืออีกนัยหนึ่งธนาคารจำเลยจะใช้สิทธิหักเงินที่จ่ายจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายย่อมไม่อาจจะทำได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องนี้ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า คดีไม่มีประเด็นไปถึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายจะอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทดังกล่าวแล้วหรือไม่ และทั้งคดีไม่มีประเด็นว่าโจทก์จะได้ใช้สิทธิของตน โดยไม่สุจริตแต่ประการใด ฉะนั้นการที่ธนาคารจำเลยจ่ายเงินไปตามเช็คที่มีลายมือชื่อปลอม ธนาคารจำเลยย่อมเป็นผู้รับผิดเอง โดยจะหักเงินนั้นจากบัญชีของโจทก์หาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวต่อไปว่าเช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม กับเช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงิน ผู้สลักหลังปลอมนั้นหาเหมือนกันไม่ เช็คที่มีลายมือชื่อผู้รับเงินหรือผู้สลักหลังปลอมนั้นตามมาตรา 1009 ธนาคารจำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่า การสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังใด ๆ ได้ทำไปโดยอาศัยแต่บุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น และถึงแม้ว่ารายการสลักหลัง นั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ถ้าหากธนาคารได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าโดยปกติสุจริตและปราศจากเลินเล่อไซร้ ท่านก็ให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปโดยถูกระเบียบ เมื่อพิจารณาตามมาตรา 1088, 1009 เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะแลเห็นได้ชัดว่า กฎหมายประสงค์ให้ธนาคารใช้ความระมัดระวังในเรื่องลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายยิ่งกว่าในเรื่องลายมือชื่อผู้รับเงินหรือผู้สลักหลัง และกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ธนาคารที่จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติโดยสุจริตปราศจากเลินเล่อแต่ในกรณีที่ลายมือชื่อผู้รับเงินหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอมเท่านั้น ส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมนั้น กฎหมายหาได้ให้ความคุ้มครองอย่างเดียวกันไม่ คดีนี้นอกจากลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมแล้ว ดวงตราที่ประทับในเช็คก็ปลอมด้วยและทั้งไม่ใช่เป็นของที่เห็นได้ยากธนาคารจำเลยจึงไม่มีทางที่จะอ้างความสุจริตหรือความไม่ประมาทเลินเล่อขึ้นต่อสู้คดีได้ เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีของโจทก์ จำเลยก็ต้องรับใช้เงินรายนี้ให้แก่โจทก์โดยเต็มจำนวน
ส่วนค่าเสียหายนั้น ได้ความว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าบัญชีโจทก์นั้น โจทก์ยังเป็นลูกหนี้ธนาคารจำเลยอยู่ 2 หมื่นบาทเศษ เช็คที่โจทก์สั่งจ่ายจากจำเลยนั้น มีจำนวนเงินเท่ากับที่โจทก์เอาไปเข้าบัญชีนั้นเอง และทั้งโจทก์จำเลยก็ได้รับกันว่า ธนาคารจำเลยมีสิทธิหักเงินที่โจทก์เป็นลูกหนี้จากเงินที่โจทก์เข้าบัญชีเงินฝากไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จำเลยไม่จ่ายเงินให้แก่ผู้นำเช็คของโจทก์ไปขึ้นเงินทั้งสองคราว โดยที่ธนาคารจำเลยถือว่าไม่มีเงินของโจทก์เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คเช่นนี้ จำเลยย่อมทำได้ตามมาตรา 991(1) ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หนึ่งหมื่นบาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1 หมื่นบาทนั้น เป็นให้ยกเสียนอกนั้นยืน