คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยจงใจประวิงหน่วงเหนี่ยวให้คดีชักช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งศาลมีอำนาจงดสืบพยานจำเลย และชี้ขาดคดีไป โดยไม่ต้องสืบพยานจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ ขอให้ขับไล่ให้รื้อรั้ว และห้ามเกี่ยวข้องกับให้ใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ขอจับจองและทำประโยชน์มี น.ส.3 แล้ว และจำเลยที่ 2, 3, 4 เช่าจากจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2, 3, 4 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้วถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างตัวเองเป็นพยานและพยานอื่นไม่มาตามนัด ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นพฤติการณ์ประวิงคดี ไม่อนุญาตให้เลื่อน ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทและมีสิทธิดีกว่าจำเลยจำเลยร่วมกันบุกรุกที่พิพาท เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รวมทั้งบริวารออกไปจากที่พิพาท ห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 รื้อรั้วซึ่งสร้างรุกล้ำที่พิพาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 6,000 บาท รวมทั้งค่าเสียหายอีกปีละ 4,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไป

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาประวิงคดีศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยยังไม่ถูกต้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

กระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อศาลปรากฏว่า ในวันสืบพยานโจทก์นัดที่สองต่อจากนัดก่อนในวันที่ 4 มีนาคม 2514 โจทก์สืบพยานหมดโดยไม่ขอสืบต่อไป จำเลยขอสืบพยานแก้ตัวจำเลยที่ 1 ได้ไปศาลในวันนั้น แถลงขอเลื่อนไปสืบพยานจำเลยวันที่ 30 เมษายน 2514 อ้างว่าจะจัดงานศพมารดาและงานอื่น ๆ ศาลชั้นต้น เห็นว่า ขอนัดนานไป คงให้เลื่อนไปสืบในวันที่ 8 และวันที่ 9 เมษายน 2514

ก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ 1 ได้ขอหมายเรียกพยานบุคคลและเรียกเอกสาร ครั้นถึงวันนัดวันที่ 8 เมษายน 2514 ทนายจำเลยที่ 1ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างว่าจำเลยที่ 1ป่วยมาศาลไม่ได้ มีใบรับรองของแพทย์สถานตรวจโรคปอดขอนแก่นว่าจำเลยที่ 1 ป่วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบ จะต้องรักษาตัว 15 วันศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปสืบในวันที่ 26, 28, 30 เมษายน 2514 รวม 3 วัน

ก่อนวันนัด จำเลยที่ 1 ขอหมายเรียกพยานบุคคล ถึงวันนัด วันที่ 26 เมษายน 2514 ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าจำเลยที่ 1 ป่วย และไม่ได้ส่งหมายเรียกให้พยาน มีใบรับรองของแพทย์คนเดิมว่า จำเลยที่ 1 ป่วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบ จะต้องรักษาตัวอีก 15 วัน ทนายจำเลยที่ 1 ไปศาลในวันนัด ศาลชั้นต้นตั้งข้อสังเกตว่า จำเลยที่ 1 พยายามจะประวิงคดี กำชับไม่ให้ขอเลื่อนอีกในนัดหน้า แล้วอนุญาตให้เลื่อนไปสืบในวันที่ 24, 25, 26 พฤษภาคม 2514

ในนัดหลังนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขอหมายเรียกพยาน ถึงวันนัดวันที่ 24 พฤษภาคม 2514 เวลา 9.40 นาฬิกา ศาลออกนั่งพิจารณาจำเลยที่ 1 และพยานจำเลยไม่มาศาล ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่า จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ไม่ทราบเหตุขัดข้อง ในระยะนี้จำเลยที่ 1 สุขภาพไม่ดีต้องเลื่อนคดีเพราะป่วยมา 2 ครั้งแล้ว เข้าใจว่านัดนี้จำเลยที่ 1 อาจจะป่วย จึงขอเลื่อนไป โจทก์แถลงคัดค้าน ขอให้ศาลสั่งงดสืบพยานจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้าและไม่เอาใจใส่นำพยานมาสืบตามนัดถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาสืบ คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา

ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2514 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอสืบพยานต่อไปอ้างเหตุต่าง ๆ คือ จำเลยที่ 1 ป่วย ได้ไปรักษาตัวที่จังหวัดพระนคร ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2514 มีใบรับรองแพทย์ประจำร้านแพทย์ปริญญาตั้งอยู่ปากซอยจารุรัตน์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พระนคร ว่าจำเลยที่ 1 ป่วยเป็นโรคโลหิตเลี้ยงสมองไม่พอ และโรคหมดประจำเดือนจำเลยที่ 1 ไม่ทราบวันนัดของศาล และจำเลยที่ 1 ได้เดินทางมาถึงศาลในวันนัดครั้งสุดท้ายเวลาบ่ายแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเสีย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการพิจารณาสืบพยานฝ่ายตนมาเป็นลำดับนั้น เมื่อศาลอนุญาตให้เลื่อนไปแล้ว ในนัดต่อมาก็ไม่ได้สืบสักนัดเดียว เฉพาะนัดหลังสุดนี้ ทั้ง ๆ ที่ศาลได้สั่งกำชับไว้ในนัดก่อนแล้ว ตัวจำเลยที่ 1 ก็ไม่มาศาล ทั้งพยานอื่นก็ไม่ได้นำมาสืบ โดยทนายจำเลยแถลงว่าไม่ทราบเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลเข้าใจเอาเองว่าจำเลยที่ 1 อาจจะป่วย ซึ่งไม่มีหลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ 1 ป่วยจริงเพียงแต่คำแถลงของทนายจำเลยกล่าวอ้างเข้ามาลอย ๆ เพื่อจะขอเลื่อนคดีต่อไป โดยไม่สังวรต่อการที่ศาลเคยกำชับไว้ เช่นนี้ จะถือว่ามีเหตุผลอันสมควรในการขอเลื่อนคดีไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยังป่วยเป็นโรคปอดอยู่ โดยไม่มีเจตนาประวิงคดีนั้น ตามใบรับรองแพทย์ ครั้งก่อนๆไม่ได้ลงความเห็นว่าเป็นโรคปอดชนิดเรื้อรังรักษาไม่หาย ตรงข้ามคงลงความเห็นแต่ละครั้งเพียงว่า ให้หยุดพักเป็นคราว ๆ คราวละ 15 วันเท่านั้น แสดงว่าน่าจะไม่ใช่อาการป่วยในขั้นรุนแรงถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่ออาการทุเลาแล้วย่อมจะไปทำธุรกิจใด ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนัดครั้งสุดท้าย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ป่วยเป็นโรคปอดแล้ว กลับแสดงว่าป่วยเป็นโรคอย่างอื่นถึงกระนั้นก็ยังเดินทางไปศาลได้ แต่ไปถึงเอาตอนบ่าย ซึ่งล่วงเลยเวลานัดของศาลไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ป่วยจริงดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะถ้าจำเลยที่ 1 ป่วยจริงก็ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาลก่อนที่ทนายจำเลยจะขอเลื่อนคดีในนัดสุดท้ายแล้ว ทั้งทนายจำเลยก็มิได้เอาใจใส่เตรียมพยานอื่นไปสืบโดยมิได้ขอหมายเรียกพยานไว้ จำเลยที่ 1 จะมาอ้างในภายหลังว่าไม่มีเจตนาประวิงคดีหาได้ไม่ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว ส่อให้เห็นชัดว่าเป็นการจงใจประวิงหน่วงเหนี่ยวให้คดีชักช้าโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรซึ่งเป็นการดำเนินคดีอันผิดความประสงค์ของการพิจารณาคดีที่ไม่ต้องการให้ศาลเลื่อนอย่างพร่ำเพรื่อดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37 บัญญัติวางหลักปฏิบัติไว้ จึงชอบที่ศาลจะงดสืบพยานจำเลยและชี้ขาดคดีไปโดยไม่ต้องสืบพยานของจำเลยที่ 1 ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 เสียนั้น ชอบแล้ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยอุทธรณ์ไว้

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่

Share