คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1632/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ส. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุในสมุดคู่มือการจดทะเบียนมอบรถยนต์กระบะให้แก่โจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยใช้เป็นพาหนะส่งอาหารทะเลให้แก่ลูกค้า แม้โจทก์จะไม่มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในสมุดคู่มือการจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมใช้รถและการเสียภาษีของเจ้าพนักงานเท่านั้น บุคคลใดจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ต้องพิจารณาไปตามสภาพของข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าโจทก์และ ส. ได้ร่วมลงทุนในการประกอบกิจการค้าขายและขนส่งอาหารอันมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ รถยนต์กระบะจึงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน เมื่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏว่าได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วน โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำให้ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำนวน 122,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ขอให้เรียกบริษัทเอส เค ทัวร์ แอนด์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุและนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าร่วมสัมปทานรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยร่วม ซึ่งนำมาร่วมสัมปทานแล่นรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางของจำเลยที่ 1 ชนรถยนต์กระบะที่โจทก์ขับมาได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยประมาท จึงเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมมีประเด็นเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมหรือไม่ โจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองและนายสุภชัย ซึ่งเป็นพี่ชายมาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า โจทก์และนายสุภชัยร่วมกันประกอบอาชีพค้าขายอาหารญี่ปุ่นและอาหารทะเล สำหรับกิจการส่งอาหารทะเลร่วมกันซื้อมาจากนายทนงศักดิ์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2542 นายสุภชัยเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์กระบะ มาจากบริษัทโตโยต้าปทุมธานี ต่อมานายสุภชัยมอบรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุให้แก่โจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยใช้เป็นพาหนะส่งอาหารทะเลให้แก่ลูกค้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทุกวัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมไม่มีพยานมานำสืบหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่า เมื่อใบสมุดคู่มือการจดทะเบียนระบุว่า นายสุภชัยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ ไม่ใช่โจทก์ ทั้งในใบทะเบียนพาณิชย์ระบุชนิดแห่งพาณิชยกิจว่า ขายอาหารญี่ปุ่นสำเร็จรูป ก็แสดงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะขณะเกิดเหตุ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในสมุดคู่มือการจดทะเบียน แต่การจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเป็นเพียงหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมใช้รถและการเสียภาษีของเจ้าพนักงานเท่านั้น บุคคลใดจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ ต้องพิจารณาไปตามสภาพของข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้ประมาท ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ให้เจ้าของผู้ครอบครองเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องเอง เพราะการไม่ให้เจ้าของรถดำเนินคดีเองทั้งๆ ที่มีเอกสารระบุชื่อผู้ครอบครองไว้โดยชัดแจ้งและโจทก์ยังถ่ายสำเนาแนบมาท้ายคำฟ้องด้วยนั้น ย่อมมีโอกาสที่จะแพ้คดี ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม ฎีกาอ้างว่า โจทก์นำสืบว่า ใช้รถยนต์กระบะคันเกิดเหตุเป็นพาหนะส่งอาหารทะเลให้แก่ลูกค้า ขัดกับใบทะเบียนพาณิชย์ที่ระบุพาณิชย์กิจของนายสุภชัยที่โจทก์อ้างว่าเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ว่า ขายอาหารญี่ปุ่นสำเร็จรูปนั้นก็เป็นกิจการค้าที่มีความเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน จึงเชื่อว่า โจทก์และนายสุภชัยได้ร่วมลงทุนในการประกอบค้าขายและขนส่งอาหารจริง อันมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญรถยนต์กระบะจึงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน เมื่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏว่าได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วน โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำให้ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1033 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล แต่เมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยปรากฏว่าคู่ความได้นำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นนี้จนสิ้นกระแสความแล้วทั้งเพื่อมิให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไปอีก ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด มาวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนลงไปให้ศาลล่างวินิจฉัยเสียก่อน ปัญหาข้อนี้โจทก์นำสืบว่า รถยนต์ของโจทก์ถูกชนทางด้านท้าย ปรากฏความเสียหายตามภาพถ่าย หลังเกิดเหตุโจทก์นำรถไปซ่อมเสียค่าซ่อมเป็นเงินประมาณ 30,000 บาท ตามบิลเงินสด แต่เมื่อซ่อมเสร็จแล้วรถยนต์โจทก์ไม่อยู่ในสภาพเดิม แชสซีเอียงไม่สามารถบรรทุกของหนักได้ ขอคิดค่าเสื่อมสภาพเป็นเงิน 30,000 บาท และในระหว่างซ่อมรถ 25 วัน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ในการใช้รถ ต้องเช่ารถบุคคลอื่นในการประกอบกิจการ ขอคิดวันละ 2,500 บาท เป็นเงิน 62,500 บาท เห็นว่า ได้ความจากคำฟ้องของโจทก์ว่า รถยนต์ของโจทก์มีประกันภัย ในเบื้องต้นบริษัทประกันภัยได้ซ่อมรถยนต์ให้โจทก์แล้ว แต่โจทก์อ้างว่ารถยนต์ไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้ดังเดิม จึงต้องนำรถไปซ่อมอีกบางรายการ แต่ปรากฏจากหลักฐานในการซ่อมที่โจทก์อ้างส่งนั้น มีจำนวน 3 ฉบับ ฉบับแรกเป็นรายการซ่อมเกี่ยวกับลูกปืนล้อ ห้ามล้อ เพลา เปลี่ยนสายเบรกมือ เป็นเงิน 10,700 บาท ฉบับที่สองเป็นการซ่อมเกียร์เป็นเงิน 6,500 บาท และฉบับที่สามระบุว่า กระบะ 1 ลูก เป็นเงิน 14,000 บาท โดยไม่ระบุให้แน่ชัดว่า เป็นการซ่อมหรือเปลี่ยนกระบะ แต่รายการนี้เป็นการซ่อมในวันที่ 10 สิงหาคม 2543 หลังถูกชนประมาณ 6 เดือน ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาพความเสียหายตามภาพถ่าย ไม่ปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจากการถูกชนรุนแรงมากนัก รายการที่ซ่อมไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการถูกชนทางด้านท้าย ทั้งโจทก์รับว่า ในการซ่อมครั้งแรกบริษัทประกันภัยมีการคุมราคาจากพนักงานของบริษัทซึ่งโจทก์ยอมรับการคุมราคาดังกล่าวแล้ว ต่อมาบริษัทประกันภัยก็ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ดังนั้น โจทก์จึงควรกำหนดรายการที่ต้องซ่อมอันเนื่องจากการถูกชนให้ถูกต้องครบถ้วนเสียตั้งแต่การซ่อมครั้งแรก ไม่ต้องเสียเวลาในการซ่อมอีกเพราะย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น ข้อนำสืบของโจทก์ในการเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ไม่มีน้ำหนัก จึงไม่กำหนดค่าซ่อมตามขอแก่โจทก์ ส่วนค่าเสื่อมราคา เห็นควรกำหนดให้ 20,000 บาท สำหรับค่าเสียหายประการสุดท้าย โจทก์นำสืบว่า เหตุที่ต้องเสียค่าเช่าในราคาแพง เพราะต้องนำรถไปบรรทุกของหนักและเป็นอาหารทะเล จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันละ 2,000 บาท เป็นเวลา 25 วัน เป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 70,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองกับจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าเสียหาย 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share