แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1. จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อ 2. โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขาย โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และข้อ 3. ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงไร โดยในชั้นพิพากษาศาลชั้นต้นได้รวมประเด็นข้อพิพาทเป็นข้อเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์สามารถขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นก็ยังคงสาระสำคัญในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิม คงมีแต่ถ้อยคำที่แตกต่างกันไป เพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยเท่านั้น จึงไม่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่หรือแก้ไขในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจนถึงกับเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อพิพาท
เมื่อศาลชั้นต้นคงสาระสำคัญในประเด็นข้อพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิมดังที่ชี้สองสถานไว้ กรณีจึงยังคงมีประเด็นดังที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขายโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งจำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และจดทะเบียนโดยไม่สุจริต แม้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะภาระการพิสูจน์นั้นมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าจะตกแก่คู่ความฝ่ายใดไม่อาจเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามกฎหมายไปตามคำสั่งศาล
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จำเลยจะพิสูจน์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังยุติตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่โจทก์ซื้อหรือมีกรรมสิทธิ์และจำเลยให้การปฏิเสธไว้ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้โดยชัดแจ้ง และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อพิพาทนี้ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้น เป็นที่มาซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในชั้นชี้สองสถานหรือในคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหรือไม่เพราะถ้าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน การแย่งการครอบครองตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประการแรกชอบแล้ว ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 142
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 26 ตารางวา ทางด้านทิศใต้ของที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยกับพวกเข้าไปในที่ดินโจทก์ และไม่ยินยอมให้โจทก์ทำประโยชน์ในที่ดิน อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดิน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าจ้างรถไถ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 3 ไร่ 26 ตารางวา ทางด้านทิศใต้ของที่ดิน
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 3 ไร่เศษ ตามอณาเขตภายในเส้นสีน้ำเงิน ตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครอง ห้ามโจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของที่ดินพิพาทตามหมายสีเส้นสีม่วงในแผนที่วิวาท คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยกและยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งและคำฟ้องของโจทก์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลย (ที่ถูต้องระบุตามสำนวนฟ้องและฟ้องแย้งด้วย)
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมนางเกียง นายพุด นายกลม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ต่อมานางเกียงถึงแก่กรรม นายยิ้ม กับนางคล้อย ร่วมกันรับมรดกที่ดินในส่วนของนางเกียง ต่อมานายทุย กับนางสาวประชุม ร่วมกันรับมรดกส่วนของนายยิ้ม แล้วนายแดง จดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกของนายทุย ส่วนที่ดินของนางคล้อยนั้นนางเหลียนเป็นผู้รับมรดก เมื่อนางเหลียนถึงแก่กรรม นายเชื่อม ก็รับมรดกในส่วนของนางเหลียน นายเชื่อมขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากที่ดินบางส่วนของนางเหลียนให้แก่โจทก์ โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ซื้อที่ดินของนายเชื่อมหรือที่ดินบางส่วนของนางเหลียน ในโฉนดที่ดินเลขที่ 4768 เอกสารหมาย ล.4 หรือ จ.1 สำหรับที่ดินของนายพุดนั้น นายพุดได้ขายที่ดินบางส่วนและส่งมอบที่ดินส่วนของตนบางส่วนให้นายจันทร์ ครอบครอง นายจันทร์ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย ที่ดินของจำเลยจึงเป็นที่ดินบางส่วนของที่ดินนายพุด และที่ดินของนายพุดซึ่งอยู่ทางทิศใต้ก็ถูกนางแดง ครอบครองปรปักษ์บางส่วนซึ่งนางแดงได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นางแดงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามที่ร้องขอเนื้อที่ 1 ไร่ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 267/2543 ของศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทที่ได้กำหนดไว้ในชั้นชี้สองสถานอันเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า ข้อ 1. จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อ 2. โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขาย โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และข้อ 3. ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงไร โดยในชั้นพิพากษาศาลชั้นต้นได้รวมประเด็นข้อพิพาทเป็นข้อเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์สามารถขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นก็ยังคงสาระสำคัญในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิม คงมีแต่ถ้อยคำที่แตกต่างกันไปเพื่อความสะดวกในการวินิจฉัยเท่านั้น จึงไม่เป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่หรือแก้ไขในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญจนถึงกับเป็นเรื่องนอกประเด็นข้อพิพาทดังที่โจทก์ฎีกา ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวดังกล่าว ทำให้ภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบเปลี่ยนไปและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์มีชื่อในทะเบียนโฉนดที่ดินจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน โจทก์จึงต้องนำสืบก่อน และจำเลยมีภาระนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อนโจทก์จึงเสียเปรียบ ไม่อาจนำพยานหลักฐานเข้านำสืบสนับสนุตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดขึ้นใหม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นคงสาระสำคัญในประเด็นข้อพิพาทในเรื่องกรรมสิทธิ์ไว้เช่นเดิมดังที่ชี้สองสถานไว้ กรณีจึงยังคงมีประเด็นดังที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนซื้อขายโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ ซึ่งจำเลยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และจดทะเบียนโดยไม่สุจริต แม้ว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะภาระการพิสูจน์นั้นมีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วว่าจะตกแก่คู่ความฝ่ายใด ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามกฎหมายไปตามคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จำเลยจะพิสูจน์ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและจดทะเบียนโดยไม่สุจริตนั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังยุติตามที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่โจทก์ซื้อหรือมีกรรมสิทธิ์ และจำเลยให้การปฏิเสธไว้ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้โดยชัดแจ้ง และจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อพิพาทนี้ดังที่โจทก์ฎีกา เพราะประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนเดียวกับที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีกรรมสิทธิ์หรือไม่นั้น เป็นที่มาซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดในชั้นชี้สองสถานหรือในคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลย จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าวดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องหรือไม่ เพราะถ้าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน การแย่งการครอบครองตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประการแรกจึงชอบแล้ว ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบดังที่โจทก์ฎีกา สำหรับปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดให้โจทก์ จำเลยไปทำแผนที่วิวาท เพื่อกำหนดว่าที่ดินพิพาทอยู่ ณ ที่ใดในโฉนดเลขที่ 4768 โจทก์ จำเลยได้นำชี้ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่วิวาทซึ่งที่ดินที่พิพาทนั้นอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ส่วนที่จำเลยนำชี้เป็นพื้นที่ในเส้นสีเขียว ส่วนที่โจทก์นำชี้เป็นพื้นที่ในเส้นสีม่วง ที่ดินที่โจทก์และจำเลยนำชี้นี้ทับซ้อนกัน ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเท่านั้น ที่ดินที่จำเลยนำชี้ซึ่งเป็นเส้นสีเขียวเกินกว่าเส้นสีม่วงที่โจทก์นำชี้ แต่ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นบริเวณที่ดินพิพาทให้ถือตามหมายเส้นสีม่วงในแผนที่วิวาท เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนโจทก์ จำเลยไม่ได้โต้แย้ง ดังนั้น จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาท คือ ที่ดินในพื้นที่ในเส้นสีม่วงตามแผนที่วิวาท และที่ดินพิพาทนี้อยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ที่ดินพิพาทนี้โจทก์เบิกความว่า นายเชื่อม ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 นำมาขายให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ก็มีนายเชื่อมเบิกความสนับสนุนว่า ได้จดทะเบียนขายที่ดินที่ตนรับมรดกมาจากนางเหลียน มารดาของตนให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาท ตามสารบาญแก้ทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 4768 เอกสารหมาย จ.1 โจทก์เบิกความว่าก่อนซื้อที่ดิน นายเชื่อมได้พาโจทก์มาดูที่ดินก่อนสภาพที่ดินเป็นสวน มีต้นมะม่วง ต้นตาล บริเวณที่ดินที่จะขายอยู่ทางทิศใต้ของโฉนดที่ดินดังกล่าว นายเชื่อมได้ชี้แนวเขตคร่าวๆ ให้โจทก์ทราบว่า ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้จดถนน ทิศเหนือจดกอไผ่ แต่โจทก์ก็ได้เบิกความไว้ด้วยว่า ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทในขณะที่โจทก์เดินทางไปดูที่ดินพบว่า ที่ดินเป็นสภาพว่างเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ไม่ปรากฏรั้วลวดหนามล้อมรอบที่ดิน และโจทก์ก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะไปดูที่ดินครั้งแรกพบต้นมะม่วงและต้นตาล ดังนั้น คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวจึงมีข้อสับสนว่าสภาพที่ดินที่โจทก์ซื้อมานั้นมีสภาพอย่างไร ส่วนนายเชื่อมแม้เบิกความตอบทนายโจทก์ว่า ที่ดินที่ตนขายให้โจทก์นั้นอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 แต่นายเชื่อมซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แม้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะที่ตนยังไม่ได้รับมรดกจากมารดา ตนเคยอยู่บนที่ดินพิพาท โดยปลูกบ้านหลังเล็กใช้พักแรมกลางที่ดินพิพาทแบบโรงนา ลักษณะไม่ถาวร ขณะนั้นตนอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ค่อยเดินทางไปดูที่ดินขณะที่ตนขายที่ดินให้โจทก์ โรงนาดังกล่าวผุพังแล้ว และมารดานายเชื่อมแม้ในขณะมีชีวิตอยู่ได้ปลูกบ้านบนโฉนดที่ดินเลขที่ 4768 แต่ไม่ได้ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท โดยปลูกอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินพิพาท ห่างจากที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 เมตร เหตุที่มารดาปลูกบ้านบริเวณดังกล่าว เนื่องจากได้รับมรดกมา และก่อนที่ตนจะได้รับมรดกจากมารดาตนไม่เคยเดินทางมาดูที่ดิน แต่เมื่อรับมรดกจากมารดาแล้ว ตนจึงเดินทางมาดูที่ดินปีละครั้ง ซึ่งคำเบิกความของนายเชื่อมที่อ้างว่าขายที่ดินให้โจทก์ดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่อยู่กับร่องกับรอย คือ เบิกความไว้ในตอนต้นว่าก่อนรับมรดกตนเคยสร้างบ้านพักแรมแบบโรงนาในที่ดินพิพาท แต่ต่อมาก็เบิกความรับว่าไม่เคยมาดูที่ดินพิพาท ทั้งมารดาก็ไม่ได้ปลูกบ้านในที่ดินพิพาท นอกจากนี้ที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์ซื้อมาจากนายเชื่อมนั้น เดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของนางเกียงต่อมาตกเป็นมรดกของนายยิ้มกับนางคล้อย ทายาทปัจจุบันที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนางเกียงนั้นคือนายแดง นางสาวประชุมและโจทก์ ซึ่งโจทก์ก็มิได้นำนายแดงกับนางสาวประชุม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนางเกียงอีกส่วนหนึ่งมาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนางเกียง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของพวกตนที่นายเชื่อมอ้างว่าที่ดินที่ตนรับมรดกมาคือที่ดินทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 จึงเป็นคำอ้างลอยๆ ทั้งโฉนดเลขที่ 4768 ที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยก็ไม่ได้ระบุว่าที่ดินของโจทก์นั้นอยู่ที่ส่วนใดของที่ดินในโฉนดดังกล่าว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 ไร่เศษนั้นนายจันทร์ ตาของจำเลยซื้อมาจากนายพุด ที่ดินดังกล่าวอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 และศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 267/2543 ที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่าที่ดินของนายพุตดังกล่าวนี้ทางทิศเหนือเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางแดง โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากนายเชื่อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของนางเกียงไม่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครอง และโจทก์ยังมีนายโสฬส ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นลูกหลานนายพุดและเป็นผู้ที่มีที่ดินอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินพิพาทเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทอยู่ทางทิศใต้ของที่ดินในโฉนดเลขที่ 4768 ที่ดินดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ครอบครองจำเลยครอบครองมาก่อนที่นายโสฬสจะครอบครองที่ดินส่วนของตน ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่วิวาทนั้น นายโสฬสเข้าไปดูเหตุการณ์ด้วย แต่โจทก์ก็ไม่ได้ไป คงไปแต่ทนายโจทก์ ทนายโจทก์ได้นำชี้ที่ดินที่นายเชื่อมขายให้โจทก์เลยไปจนถึงรั้วที่ดินของนางแดง รวมทั้งที่ดินของนายโสฬสกับนายใย ซึ่งมีที่ดินอยู่ทางทิศเหนือของที่ดินพิพาทดัวย แต่นายโสฬสกับนายใยคัดค้าน ทนายโจทก์จึงได้นำชี้ร่นมาจนถึงขาบคันนาและกอไผ่ระหว่างที่ดินของนายโสฬสกับจำเลย ซึ่งจำเลยมีนายใยเพื่อนบ้านทางทิศเหนือของที่ดินพิพาท นายอนุพงศ์ ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่และเป็นเพื่อนบ้านของจำเลยต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันยืนยันว่าทนายโจทก์นำชี้ว่าที่ดินของโจทก์คือที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครอง แต่เนื่องจากพวกตนคัดค้านการนำชี้ที่ดินของทนายโจทก์ที่นำชี้ที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนทนายโจทก์จึงนำชี้ใหม่ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ซักค้านพยานจำเลยและนำสืบปฏิเสธข้ออ้างของจำเลยดังกล่าว ที่นำสืบยืนยันว่าโจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินที่ตนซื้อมาจากนายเชื่อมนั้นอยู่ ณ ที่ใด เนื่องจากในขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ไม่เคยมาดูที่ดิน ทั้งนายโสฬสก็เบิกความยืนยันว่า แม้แต่ตัวนายเชื่อมผู้ขายที่ดินให้โจทก์ก็ไม่เคยเข้าครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลย (ที่ดินพิพาท) ซึ่งคำเบิกความของนายโสฬสดังกล่าวก็เจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ที่มีพิรุธดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นนอกจากนี้เมื่อนางแดงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 267/2543 ของศาลชั้นต้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายแดงซึ่งเป็นบุตรหลานของนายพุดเช่นเดียวกับจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงนับว่าเป็นข้อพิรุธ เมื่อปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนเดียวกับที่ดินที่โจทก์ซื้อหรือไม่นั้น โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ในปัญหานี้จึงตกแก่โจทก์ แต่ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวก็มีพิรุธหลายประการ เมื่อชั่งน้ำหนักคำพยานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ กรณีจึงต้องรับฟังว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากนายเชื่อมกับที่ดินพิพาทนั้นเป็นที่ดินคนละแปลงกันกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4768 ที่เป็นส่วนอื่น มิใช่ที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสำนวนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ