แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารมีหน้าที่จัดระเบียบการเดิน รถยนต์โดยสารขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 อนุญาตให้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3ในเส้นทางสาย 1014 จากปากซอยอุดมสุขถึงปลายซอยดังกล่าวจำเลยที่ 3 ได้ประโยชน์ตอบแทนคือค่าทำสัญญาปีละ 500 บาทเมื่อรถยนต์โดยสารขนาดเล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 แล้ว จะมีการประทับตราจำเลยที่ 3 ไว้ที่ตัวรถนอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ยังสงวนสิทธิในการหาประโยชน์จากการโฆษณาทั้งภายในและภายนอกตัวรถยนต์โดยสารขนาดเล็กที่เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 อีกทั้งลูกจ้างของจำเลยที่ 2ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบวินัย และคำสั่งของจำเลยที่ 3ทุกประการด้วย ถือได้ว่ากิจการเดินรถของรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจึงถือว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย เจ้าของรถที่เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 สามารถนำรถออกนอกเส้นทาง ได้ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ ใช้ในราชการ ใช้ในกิจการส่วนตัว และใช้ในเรื่องสาธารณประโยชน์ แต่ต้องขออนุญาตจาก จำเลยที่ 3 ก่อน หากฝ่าฝืนสัญญาข้อ 6 ก็ระบุไว้ว่าจำเลยที่ 3 มีสิทธิสั่งห้ามมิให้เจ้าของรถนำรถออกวิ่งรับผู้โดยสารในเส้นทางมีระยะเวลาตามที่จำเลยที่ 3 กำหนดหรือบอกเลิกสัญญาได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 สามารถที่จะนำรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุไปใช้นอกเส้นทางที่กำหนดไว้ตามสัญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อนเท่านั้น แม้จะฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกัน เพียงแต่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุออกนอกเส้นทาง แต่เมื่อจำเลยที่ 1ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับและผู้ตายถึงแก่ความตายจึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุรับจ้างเหมาขนส่งนักศึกษารักษาดินแดนเป็นการรับจ้างทำของ นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 นั้น แม้จำเลยที่ 3 จะยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ แต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 นำรถไปใช้นอกเส้นทาง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดโดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็มิได้แก้อุทธรณ์และยกประเด็นนี้ขึ้นว่ากล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมมาศ พรเจริญสวัสดิ์ ผู้ตาย โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5เป็นบุตรของผู้ตายกับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 เวลา 13 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยสารขนาดเล็กสาย 1014 หมายเลขทะเบียน10-5048 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับส่งผู้โดยสารนักเรียนรักษาดินแดนไปตามถนนนนทบุรี-ปทุมธานี จากสี่แยกปทุมวิไลมุ่งหน้าไปทางโค้งบางคูวัดด้วยความเร็วสูงและด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เมื่อถึงบริเวณใกล้ปากซอยธรรมสุธี จำเลยที่ 1ก็หาได้ลดความเร็วลงไม่ กลับขับแซงรถคันที่อยู่ข้างหน้าเข้ามาในช่องเดินรถที่แล่นสวนมาด้วยความเร็วสูงและกะทันหันเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ร-2545 กรุงเทพมหานคร ที่ผู้ตายขับสวนทางจากโค้งบางคูวัดมุ่งหน้าไปทางสี่แยกปทุมวิไลสุดที่ผู้ตายจะหลบหลีกได้ ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทันทีและรถได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่ศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด2 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 380/2530 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 811,096 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร และมีหน้าที่จัดระเบียบการเดิน รถยนต์โดยสารขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 3 ได้จัดให้รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-5048กรุงเทพมหานคร แล่นรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่ 1014 ระหว่างถนนสุขุมวิท ถึงแขวงประเวศน์ ซึ่งไม่ผ่านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุเป็นการขับตามคำสั่งของจำเลยที่ 2นายจ้างและขับรถออกนอกเส้นทางที่จำเลยที่ 3 กำหนดโดยมิได้รับอนุญาตและมิใช่เป็นการรับส่งผู้โดยสารโดยทางปกติ แต่เป็นการรับจ้างเหมาขนส่ง ซึ่งมิใช่วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดในผลละเมิด เหตุที่เกิดรถชนกันมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทของผู้ตายเองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 450,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชดใช้เสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งคู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 นำรถยนต์โดยสารขนาดเล็ก (สองแถว) หมายเลขทะเบียน10-5048 กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2529 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารขนาดเล็กหมายเลขทะเบียน 10-5048 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ร-2545 กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ตายเป็นผู้ขับขี่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 4 และโจทก์ที่ 5 ด้วยหรือไม่
ในปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวมาแล้วนั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ในปัญหานี้เห็นว่า ตามคำฟ้อง คำให้การและข้อนำสืบของโจทก์จำเลยฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร มีหน้าที่จัดระเบียบการเดิน รถยนต์โดยสารขนาดเล็กในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 อนุญาตให้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กหมายเลขทะเบียน 10-5048 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุ ร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางสาย 1014 จากปากซอยอุดมสุขถึงปลายซอยดังกล่าว ในการที่จำเลยที่ 3 อนุญาตให้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 เช่นกรณีรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุนี้ ได้ความจาก นายนเรศ บุญเนียม พยานจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 3 ได้ประโยชน์ตอบแทนคือค่าทำสัญญาปีละ 500 บาท เมื่อรถยนต์โดยสารขนาดเล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 แล้ว จะมีการประทับตราจำเลยที่ 3 ไว้ที่ตัวรถตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุเข้าร่วมดำเนินการ เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 26.1 และข้อ 14นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ยังสงวนสิทธิในการหาประโยชน์จากการโฆษณาทั้งภายในและภายนอกตัวรถยนต์โดยสารขนาดเล็กที่เข้าร่วมเดินรถกับจำเลยที่ 3 ทั้งลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบวินัย และคำสั่งของจำเลยที่ 3 ทุกประการด้วย ดังปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 11 และ 12 เช่นนี้ต้องถือว่า กิจการเดินรถของรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุเป็นกิจการร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จ้างจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างจึงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย
จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อไปว่าตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 2จะต้องเดินรถในเส้นทางและรับจ้างขนคนโดยสาร แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถนอกเส้นทางและรับเหมาขนนักศึกษาไม่ใช่รับขนคนโดยสาร จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด ในปัญหานี้เห็นว่า ได้ความจากนายนเรศพยานจำเลยที่ 3 ว่า เจ้าของรถที่เข้าร่วมกับจำเลยที่ 3สามารถนำรถออกนอกเส้นทางได้ ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ ใช้ในราชการใช้ในกิจการส่วนตัว และใช้ในเรื่องสาธารณประโยชน์ แต่ต้องขออนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อน หากฝ่าฝืน สัญญาเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 6ก็ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิสั่งห้ามมิให้เจ้าของรถนำรถออกวิ่งรับผู้โดยสารในเส้นทางมีระยะเวลาตามที่จำเลยที่ 3 กำหนดหรือบอกเลิกสัญญาได้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 สามารถที่จะนำรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุไปใช้นอกเส้นทางที่กำหนดไว้ตามสัญญาได้ เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 ก่อนเท่านั้นแม้จะฝ่าฝืนสัญญาข้อนี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกัน เพียงแต่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเท่านั้น ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุออกนอกเส้นทางแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่ผู้ตายขับและผู้ตายถึงแก่ความตายจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์โดยสารขนาดเล็กคันเกิดเหตุรับจ้างเหมาขนส่งนักศึกษารักษาดินแดนเป็นการรับจ้างทำของนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การแต่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 นำรถไปใช้นอกเส้นทางจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเมื่อโจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2จำเลยที่ 3 ก็มิได้แก้อุทธรณ์และยกประเด็นนี้ขึ้นว่ากล่าวไว้ในชั้นอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน