แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลย ดำเนินการขายรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. ในนามตัวแทนของจำเลย รับดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัท ย. โดยมิได้มีหน้าที่โดยตรงแล้วอาศัยโอกาสเรียกให้บริษัท ย. โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ 15,000 บาท แล้วนำส่งจำเลยเป็นค่ามัดจำป้ายทะเบียนรถยนต์ป้ายแดง 4,000 บาท และค่าจดทะเบียนรถยนต์ 3,800 บาท ส่วนที่เหลือ 7,200 บาท ไม่คืนให้แก่บริษัท ย. เป็นเหตุให้บริษัท ย. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ เป็นการประพฤติตนไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ คดโกง ถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) และกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 9,360 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 28,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,572,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ 9,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว และค่าชดเชยแก่โจทก์ 28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 ธันวาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าการจดทะเบียนรถยนต์ให้ลูกค้านั้น จำเลยจะดำเนินการให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจปกติของจำเลย แต่โจทก์ไปตกลงกับลูกค้าเพื่อรับดำเนินการเอง แล้วให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า บริษัทเยทา จำกัด ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ข้อหายักยอกทรัพย์ค่าดำเนินการทะเบียนรถยนต์และได้วินิจฉัยว่าบริษัทเยทา จำกัด มีความเชื่อถือว่าจะได้รับรถยนต์และทะเบียนรถยนต์ตามที่ต้องการ หากโจทก์ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทเยทา จำกัด จะโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีโจทก์ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีหน้าที่ดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลย ดำเนินการขายรถยนต์ให้แก่บริษัทเยทา จำกัด ในนามตัวแทนของจำเลย แต่กลับรับดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัทเยทา จำกัด โดยมิได้มีหน้าที่โดยตรงต้องกระทำเช่นนั้น แล้วอาศัยโอกาสจากการเป็นพนักงานขายของจำเลยเรียกให้บริษัทเยทา จำกัด โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ 15,000 บาท แล้วโจทก์นำส่งจำเลยเป็นค่ามัดจำป้ายทะเบียนรถยนต์ป้ายแดง 4,000 บาท และนำเงินส่วนหนึ่งจำนวน 3,800 บาท เป็นค่าจดทะเบียนรถยนต์ แล้วไม่นำเงินส่วนที่เหลืออีก 7,200 บาท คืนให้แก่บริษัทเยทา จำกัด เป็นเหตุให้บริษัทเยทา จำกัด ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์แก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติตนไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ เป็นการประพฤติที่คดโกงถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1) อันเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด