คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1)บทบัญญัติว่าด้วยการขาดนัดยื่นคำให้การจะนำมาใช้แก่ผู้ร้องสอดหาได้ไม่
(2)คำร้องของผู้ร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 นั้น ย่อมเป็นทั้งคำให้การต่อสู้และฟ้องแย้งคดีได้อยู่ในตัวแล้วแต่กรณี
(3)เมื่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 กำหนดให้ผู้ร้องสอดทำคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความก็ย่อมใช้กระดาษแบบคำร้องตลอดถึงฟ้องแย้งในคำร้องสอดนั้นด้วยได้(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุก ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ บังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกไปอย่าให้เกี่ยวข้อง

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นของกรมทางหลวงแผ่นดินจำเลยซ่อมแซมหลักตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ต่อมากรมทางหลวงแผ่นดินยื่นคำร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของกรมทางหลวงแผ่นดิน ได้มาโดยคณะกรรมการอำเภอวารินเอาที่ดินซึ่งสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในราชการยกให้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2477 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย แล้วได้ครอบครองดูแลรักษาประโยชน์ตลอดมา นายปรารมย์จำเลยเป็นช่างกำกับการหมวดการทางได้ปฏิบัติการไปตามคำสั่งในฐานะเป็นตัวแทนของกรมทางหลวงแผ่นดินขอให้ยกฟ้องและพิพากษาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นของกรมทางหลวงแผ่นดินอย่าให้โจทก์และบริวารเกี่ยวข้องต่อไป

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องสอดของกรมทางหลวงแผ่นดินมีคำขอเป็นฟ้องแย้งและเมื่อทำแผนที่พิพาทแล้วปรากฏว่ามีเนื้อที่ 27 ไร่เศษจึงตีราคาทุนทรัพย์ 150,000 บาท ให้โจทก์แก้ฟ้องแย้ง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ คณะกรมการอำเภอวารินไม่มีอำนาจยกที่ดินของโจทก์ให้แก่ผู้ใดได้ก่อน พ.ศ. 2494 จำเลยหรือผู้ร้องสอดไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทเลย หากทางอำเภอยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องสอดจริง ก็ไม่ใช่แปลงพิพาทนี้ เป็นที่ดินอีกแปลงหนึ่งต่างหาก กับตัดว่าคำร้องของผู้ร้องสอดเป็นเพียงคำขอ ไม่ควรรับเป็นฟ้องแย้งหรือคำให้การที่มีข้อต่อสู้

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่หลวงสำหรับใช้ในราชการของกรมทางหลวงแผ่นดิน พิพากษายกฟ้องโจทก์ ห้ามไม่ให้โจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษา

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้ว

ฎีกาข้อแรกเป็นข้อกฎหมายอ้างว่า ผู้ร้องสอดมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ต้องถือว่าขาดนัดยื่นคำให้การ และไม่มีข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 นั้น เรื่องนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นฟ้องแย้ง ให้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ครั้นต่อมาโจทก์ร้องว่า ผู้ร้องสอดมิได้ยื่นคำให้การ ขอให้สั่งขาดนัด ศาลชั้นต้นสั่งว่าไม่ปรากฏเหตุดังโจทก์อ้างที่จะสั่งให้ผู้ร้องสอดขาดนัดได้ ให้ยกคำร้อง โจทก์ไม่ได้โต้แย้งเพื่ออุทธรณ์ต่อไป

ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาเห็นได้ว่า โจทก์มุ่งถือเอาว่าผู้ร้องสอดเป็นจำเลยที่โจทก์ฟ้องด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลภายนอกไว้เป็นพิเศษแตกต่างกับจำเลย เช่น ให้มีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความด้วยความสมัครใจโดยยื่นคำร้องต่อศาลในระหว่างพิจารณาคดีนั้นหรือเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษาก็ได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยด้วย ก็จะนำบทบัญญัติว่าด้วยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การภายในกำหนดมาใช้แก่ผู้ร้องสอดหาได้ไม่ ทั้งคำร้องของผู้ร้องสอดเป็นทั้งคำให้การต่อสู้และฟ้องแย้งคดีโจทก์อยู่ในตัวแล้ว หาใช่เป็นคำร้องเพียงเพื่อขอยื่นคำให้การหรือฟ้องแย้งดังข้อค้านของโจทก์ไม่

ที่โจทก์ฎีกาว่า คำร้องของผู้ร้องสอดใช้กระดาษแบบพิมพ์ไม่ถูกประเภท คือ ใช้แบบพิมพ์คำร้อง (7) ไม่ใช่แบบพิมพ์คำให้การ (10 ก.) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องสอดทำคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความ ก็ย่อมใช้กระดาษแบบคำร้องตลอดถึงฟ้องแย้งในคำร้องสอดนั้นด้วยได้

ส่วนข้อเท็จจริง ในเรื่องเจ้าของที่พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฝ่ายจำเลยมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบกันฟังได้สนิทว่าเดิมเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ทางราชการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศหวงห้ามไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ แต่ฟังไม่ได้ว่าเป็นของโจทก์ ฯลฯ ศาลทั้งสองพิพากษาชี้ขาดยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

Share