คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ โดยด้านหลังคำขอเปิดบัญชีปรากฏมีระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันว่า ถ้าเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่โจทก์ได้จ่ายให้ไปจำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้โจทก์ เสมือนหนึ่งได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร และโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีเป็นดอกเบี้ยทบต้นถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยและการที่จำเลยนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินเรื่อยไปโดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้งเข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 12 มิถุนายน2522 และนำเงินเข้าฝากครั้งสุดท้าย วันที่ 10 มิถุนายน 2528โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกัน และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856,859 เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถาม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2530 ให้จำเลยชำระหนี้คิดเพียงวันที่ 27 เมษายน 2530 ภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือทวงถาม ถือว่าได้มีการเลิกบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 27 เมษายน 2530 มูลหนี้อันเกิดจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีให้ถือว่าเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ภายในวันที่26 ของทุกเดือน หากผิดนัดยินยอมให้นำเข้าทบกับต้นเงิน จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 345,950.30 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีจากต้นเงิน 332,294.37 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ไม่เกิน 20,000 บาท จำเลยไม่ได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและไม่ได้ให้คิดแบบทบต้น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ที่เบิกเกินบัญชีไปให้แก่โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากต้นเงิน 458,150.85 บาท ในอัตราดังต่อไปนี้คือร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2522ร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 ร้อยละ 19 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 ร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2526 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2527ร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 และร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ทั้งนี้ ให้หักจำนวนเงินที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ หลังจากวันเลิกสัญญาเป็นต้นไป พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่ลดลงตามส่วนออก จึงเป็นจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ แต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินจำนวนตามที่โจทก์ขอมา
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน332,294.37 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 เมษายน 2530 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 13,655.93 บาท ตามโจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยมีบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์หรือไม่ และเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใด ปรากฏตามระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันด้านหลังคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (เอกสารหมาย จ.3)ข้อ 12 ความว่า “ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค โดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไป ผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคาร เสมือนหนึ่งได้ขอร้องเปิดเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร” ข้อ 19 ความว่า “ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน (ดอกเบี้ยทบต้น) และจะนำผลดอกเบี้ยนั้นหักบัญชีเป็นรายเดือนข้อตกลงนี้จะใช้ในทุกกรณี” นอกจากนี้ข้อความตอนท้ายเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า “ข้าพเจ้า ได้รับทราบระเบียบการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด ตามที่ปรากฏอยู่ด้านหลังคำขอนี้แล้ว และตกลงที่จะปฏิบัติพร้อมกับยอมเข้าผูกพันตามระเบียบดังกล่าวโดยตลอด” ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันดังกล่าวมีการตกลงกันเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งโจทก์จำเลยจะต้องผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว การที่จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์มีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินอยู่เรื่อย ๆ โดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้ง ดังนี้เข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด จึงฟังได้ว่าจำเลยทราบถึงระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันของโจทก์ และจำเลยมีสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์ เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คถอนเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชี และโจทก์ได้ยอมจ่ายให้ไป จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ที่จำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ระบุเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยตามอัตราต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้อง และคำเบิกความของนางสาวสุภาภรณ์ เล็กตระกูล พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ มิได้มีเอกสารอื่นใดมาสนับสนุนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากนางสาวสุภาภรณ์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยขึ้นลงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โจทก์ยังอ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 สนับสนุน ซึ่งโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยออกตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 อันเป็นบทกฎหมายที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเกี่ยวกับการคิดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารว่าช่วงใดคิดดอกเบี้ยอย่างไร อัตราเท่าใดตามที่จำเลยฎีกาจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันด้านหลังคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.3 อันเป็นระเบียบปฏิบัติที่โจทก์จำเลยตกลงกันดังกล่าว ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปีและอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศเป็นคราว ๆ ตามข้อตกลง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 27 เมษายน 2530 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด ฉะนั้นแม้หลังจากจำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2522 และจำเลยนำเงินเข้าฝากครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน2528 ตามเอกสารหมาย จ.6 แล้วบัญชีของจำเลยได้หยุดเดินสะพัด โดยจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากหรือถอนเงินจากโจทก์อีกเลย กรณีต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยเรื่องบัญชีเดินสะพัดมาปรับ ซึ่งการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856, 859 คดีฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 3มิถุนายน 2530 ให้จำเลยชำระหนี้คิดเพียงวันที่ 27 เมษายน 2530เป็นเงิน 332,294.37 บาทภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้ว ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2530 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 3 มิถุนายน 2530 ไปยังจำเลย ให้จัดการชำระเงินจำนวน 332,294.37 บาท ตามยอดเงินในบัญชีเงินฝากคิดเพียงวันที่ 27 เมษายน 2530 ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือคือวันที่ 4 มิถุนายน 2530 ดังปรากฏในหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จำเลยทราบแล้วไม่ได้โต้แย้งคัดค้านยอดหนี้ตามที่โจทก์แจ้งไป ครบกำหนด 15 วันในวันที่ 19มิถุนายน 2530 ก็ไม่ชำระหนี้ ถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้ว มูลหนี้ดังกล่าวเกิดจากหนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัด หาใช่มูลหนี้เกิดจากการใช้เช็คมีอายุความ 2 ปีดังฎีกาของจำเลยไม่ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2530ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share