แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นางสาว ก. ผู้เสียหาย อายุ 15 ปีเศษ ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับมารดา เพราะมารดานำไปฝากให้อยู่กับผู้อื่นก็ไม่ถือว่าพ้นจากอำนาจปกครองของมารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปโดยมารดามิได้ยินยอม ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาแม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมจากมารดา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดา การกระทำเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 และ 319 นั้น หมายความถึงการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวของบุคคลโดยตรง จะกระทำในที่รโหฐานหรือสาธารณสถาน ก็ไม่มีผลที่แตกต่างกัน การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่ถูกจำเลยพาไปในห้อง ของโรงแรมแม้จะเป็นที่มิดชิดแต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ในทางเพศต่อร่างกายของผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่ออนาจาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดหลายกรรม ดังนี้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้พรากนางสาวกาวี แสนสุริวงค์ ผู้เยาว์ อายุ 15 ปีเศษ ไปจากนางเภาแสนสุริวงค์ มารดาเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำเลยที่ 2 โดยทุจริตได้รับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกจำเลยที่ 1 พรากไปดังกล่าวไว้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นร่วมกันเป็นธุระจัดหาชักพาไปเพื่ออนาจารซึ่งนางสาวกาวีผู้เยาว์อายุ 15 ปีเศษ ให้ผู้มีชื่อกระทำชำเรา และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2535 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองเพื่อให้สำเร็จความใคร่ของผู้อื่นร่วมกันเป็นธุระจัดหาชักพาไปเพื่ออนาจารซึ่งนางสาวกาวีผู้เยาว์อายุ 15 ปีเศษให้ผู้มีชื่อกระทำชำเรา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 282, 319
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง และมาตรา 319 วรรคสองเป็นความผิดต่างกรรมเรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 วางโทษจำคุกตามมาตรา 282 วรรคสอง 4 ปี ตามมาตรา 319 วรรคสอง 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1ฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวกาวี แสนสุริวงค์ ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ ออกจากบ้านมากับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนางเภา แสนสุริวงค์ มารดาโดยจำเลยที่ 1 กระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร จำเลยที่ 2 รับตัวผู้เสียหายไว้จากจำเลยที่ 1และรู้เห็นชักพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้ไปร่วมประเวณีกับชายอื่น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกที่ว่าผู้เสียหายไม่ได้พักอาศัยอยู่กับมารดา การพาผู้เสียหายไปไม่เป็นการพรากผู้เสียหายไปจากอำนาจปกครองของมารดานั้น เห็นว่าแม้ผู้เสียหายจะไม่ได้พักอาศัยอยู่กับมารดา เพราะมารดานำไปฝากให้อยู่กับผู้อื่นก็ตาม ก็ไม่ถือว่าพ้นจากอำนาจปกครองของมารดาการที่จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายไปโดยมารดาของผู้เสียหายมิได้ยินยอมนั้น ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่อผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอม ก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากมารดาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดา ส่วนฎีกาข้อ 2 ของจำเลยที่ 2 ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2ให้พนักงานบริการของโรงแรมพาผู้เสียหายไปที่โรงแรมแล้วผู้เสียหายได้ร่วมประเวณีกับชายคนหนึ่งในห้องของโรงแรม ไม่เป็นการอนาจารเพราะคำว่าอนาจารตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525แปลว่า ความประพฤติน่าอับอาย นอกรีตนอกแบบ การที่ผู้เสียหายเข้าไปอยู่ในห้องของโรมแรมที่มิดชิด ไม่มีใครอยู่ด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นความประพฤติที่น่าอับอาย ไม่เป็นการอนาจารนั้น เห็นว่าการกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญานั้น หมายความถึง การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายบุคคลอื่น เช่น กอดจูบลูบคลำร่างกายของหญิงหรือชายหรือเอาอวัยวะเพศของตนไปสัมผัสกับอวัยวะของผู้อื่นเป็นการแสดงความใคร่ในทางเพศ ซึ่งต้องเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวของบุคคลโดยตรง ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นความประพฤติที่น่าอับอาย นอกรีต นอกแบบ อยู่แล้วจะกระทำในที่รโหฐานหรือสาธารณสถานก็หามีผลที่แตกต่างกันไม่ การที่ชายอื่นร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในห้องของโรงแรมแม้จะเป็นที่มิดชิดแต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่นคือผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำอนาจารแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน