แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง ดังนี้ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามมาตรา 289, 80 โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงฎีกาข้อหาดังกล่าวในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาความผิดตามมาตรา 288, 80 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่อสู้ขัดขวางร้อยตำรวจเอกระหงษ์ ใจแสน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายขณะปฏิบัติหน้าที่จับกุมจำเลยในข้อหามีอาวุธปืนดังกล่าว จำเลยใช้อาวุธปืนยิงร้อยตำรวจเอกระหงษ์ ๑ นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ลั่น และจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ไม่มีหมายเลขทะเบียนขับขี่ไปโดยไม่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๐, ๙๑, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖, ๕๙ ริบอาวุธปืน กระสุนปืน และซองใส่กระสุนปืน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ เรียงกระทงลงโทษ ข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก ๑๐ ปี ข้อหามีอาวุธปืน จำคุก ๒ ปี ข้อหาพาอาวุธปืน จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๑๓ ปี ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๘, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๘๐ ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ เพราะจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ ดังนี้ จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดตามมาตรา ๒๘๙, ๘๐ โดยอาศัยข้อเท็จจริง กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ การที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทราบว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นการฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดฐานนี้ โจทก์คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย
พิพากษายืน