คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1626/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์แต่งตั้งให้ทนายความซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแพ่งการที่ทนายความของจำเลยที่ 1ที่ 2 มอบให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องต่อศาลขอถอนตนจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในวันนัดสืบพยานโจทก์อ้างว่ามีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2ยังไม่ทราบว่าทนายความขอถอนตนเช่นนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจไม่มาศาลในวันสืบพยานยังไม่ถนัดเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ต่างจังหวัด ส่วนทนายอยู่กรุงเทพมหานครซึ่งในวันนัดสืบพยานโจทก์ ตัวจำเลยที่ 1ที่ 2 คงจะคาดหมายว่าทนายความของตนจะเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายต่อไปตามปกติ มิได้คาดหมายว่าทนายจะถอนตนถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทราบก็จะต้องแต่งทนายความใหม่เพื่อสู้คดี เพราะได้ยื่นคำให้การไว้แล้วเพื่อให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี ศาลชั้นต้นควรเลื่อนการพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน (ที่จังหวัดอุตรดิตถ์) ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมใช้เงิน 698,276.11 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ 35,000 บาททุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2523 เป็นต้นไป จนกว่าจะครบผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ให้โจทก์ฟ้องบังคับคดีที่ศาลแพ่งได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดสัญญาโดยส่งเงินมาชำระให้โจทก์เพียง 2 ครั้ง ทั้งมิได้นำทะเบียนรถยนต์วอลโว่มาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันตามสัญญา โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยรู้จักโจทก์ไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และไม่ได้ประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องผูกพัน โจทก์ไม่เคยทวงถาม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่โจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีทรัพย์สินมากกว่าจำนวนหนี้ หากมีการบังคับคดีตามคำพิพากษาขอให้บังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดพิจารณาให้สืบพยานโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปฝ่ายเดียวไม่ชอบ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา พิพากษายก คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แต่งตั้งให้ทนายความซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายที่ศาลแพ่ง การที่ทนายความของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มอบให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องต่อศาลขอถอนตนจากการแต่งตั้งเป็นทนายในวันนัดสืบพยานโจทก์ อ้างว่ามีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่ทราบว่าทนายความขอถอนตนจากการแต่งตั้งเป็นทนายเช่นนี้ จะเรียกว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จงใจไม่มาศาลในวันสืบพยานไม่ถนัดเพราะตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ต่างจังหวัด ทนายความของจำเลยทั้ง 2 อยู่กรุงเทพมหานครซึ่งในวันนัดสืบพยานโจทก์เช่นคดีนี้ ตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 คงจะคาดหมายว่าทนายความของตนจะเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายต่อไปตามปกติ มิได้คาดหมายว่าทนายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะขอถอนตน ถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทราบก็จะต้องแต่งทนายความใหม่เพื่อต่อสู้คดี ดังที่ได้ยื่นคำให้การไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เพื่อให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี ศาลชั้นต้นควรเลื่อนการพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share