แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้ถูกสั่งพักราชการพ.ศ.2502 มาตรา 7(1) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินอื่นให้แก่ผู้ถูกสั่งพักราชการ พ.ศ.2488 มาตรา 5(1) นั้นเป็นเรื่องให้จ่ายเงินเดือนแก่ผู้ถูกสั่งพักราชการโดยผลของการสอบสวนปรากฏว่าข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิด หรือไม่มีมลทินมัวหมองเท่านั้นแต่ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีความผิด และทางราชการได้มีคำสั่งไล่ข้าราชการคนใดออกจากราชการไปแล้ว กรณีเช่นนี้ ตามกฎหมายดังกล่าวกลับห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนระหว่างพักราชการให้แก่ข้าราชการซึ่งถูกไล่ออกจากราชการนั้นด้วย
กระทรวงเศรษฐการมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการฐานผิดวินัยเมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องร้องต่อศาลเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จะใช้อายุความ5 ปีตามมาตรา 166 หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นเอกได้ถูกกระทรวงเศรษฐการซึ่งบังคับบัญชากรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้นสั่งให้โจทก์พักราชการ ต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ซึ่งได้วินิจฉัยว่า คำสั่งให้โจทก์พักราชการใช้ได้ ส่วนคำสั่งไล่ออกไม่ถูกต้องตามกฎหมายทางราชการจึงมีคำสั่งบรรจุโจทก์กลับเข้ารับราชการดั่งเช่นเดิม ฉะนั้น นับตั้งแต่วันที่ 8พฤศจิกายน 2483 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ถูกพักราชการ จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม2501 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่โจทก์คืนสู่ฐานะเป็นข้าราชการในครั้งหลัง โจทก์จึงมีหนังสือถึงอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ขอให้ดำเนินการให้โจทก์ได้รับเงินเดือนระหว่างพักราชการ แต่ได้รับแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งไม่จ่ายให้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 287,966 บาท 66 สตางค์
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่กระทรวงเศรษฐการมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการเป็นเรื่องละเมิด โจทก์ชอบที่จะฟ้องต่อศาลภายในกำหนด1 ปี คำสั่งไล่โจทก์ออกเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ปี 2501โจทก์มาฟ้องศาลเมื่อปี 2506 คดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิรับเงินเดือนระหว่างถูกพักราชการตามพระราชบัญญัติเงินเดือนของข้าราชการผู้ถูกสั่งพักราชการ พ.ศ. 2502 มาตรา 7(1) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ให้แก่ผู้ถูกสั่งพักราชการพ.ศ. 2488 มาตรา 5(1) นั้น เป็นเรื่องให้จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ถูกสั่งพักราชการโดยผลของการสอบสวนปรากฏว่าข้าราชการผู้นั้นไม่มีความผิดหรือไม่มีมลทินมัวหมองเท่านั้น แต่เรื่องโจทก์กลับปรากฏตรงกันข้าม คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีความผิด และกระทรวงเศรษฐการได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการเด็ดขาดไปแล้ว ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกลับห้ามมิให้จ่ายเงินเดือนระหว่างพักราชการให้แก่ข้าราชการซึ่งถูกไล่ออกจากราชการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนตามที่กล่าวอ้าง ไม่ใช่ กรณีค้างจ่ายเงินเดือนจะนำกำหนดอายุความ 5 ปีตามมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับหาได้ไม่ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งของกระทรวงเศรษฐการที่สั่งไล่โจทก์ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ก็ชอบที่โจทก์จะฟ้องร้องต่อศาลเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฐานจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ทราบคำสั่งไล่ออกเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ปี 2501 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ แต่โจทก์ก็เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2506 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี ตามนัยฎีกาที่ 610/2506 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์