แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์สำหรับการกระทำที่ถูกกล่าวหาไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นสอบสวนใหม่แล้วมีคำสั่งลงโทษทางวินัยให้ไล่โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเห็นว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น เมื่อตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดขั้นตอนการลงโทษทางวินัยโดยให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นมีอำนาจลงโทษพนักงานลูกจ้างสำหรับความผิดเล็กน้อยไม่ร้ายแรงได้ แต่ให้อยู่ภายใต้การทบทวนของผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปเพื่อให้การลงโทษนั้นเหมาะสม โดยระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นที่มีคำสั่งลงโทษในชั้นต้นมีหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินการลงโทษทางวินัยนั้นไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงจนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่เพื่อพิจารณาทบทวนได้ หากผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาแล้วลงโทษเป็นอย่างอื่นก็ให้การลงโทษโดยผู้บังคับบัญชาชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไป กรณีนี้จึงมิใช่เป็นการลงโทษซ้ำสำหรับการกระทำเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้างและให้นับอายุงานต่อเนื่อง หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 12,851,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าเสียหายจากการขาดรายได้นับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 381,137.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 356,620 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปค่าจ้างเดือนละ 32,420 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 68,142.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 63,750.94 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 368,777.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย 324,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวสายชล ภริยาของโจทก์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต เมื่อคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจสั่งให้นางสาวสายชลเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ คำสั่งของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้เพิกถอนคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวแล้วมีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้นางสาวสายชล ภริยาของโจทก์ เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานไปรษณีย์ 4 ประจำที่ทำการไปรษณีย์พยุหะคีรี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 32,420 บาท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ผู้ใช้บริการรายศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 (จังหวัดนครสวรรค์) และผู้ใช้บริการรายสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาพยุหะคีรี ให้เจ้าหน้าที่มาชำระเงินค่าบริการรับฝากไปรษณียภัณฑ์รายเดือน ณ ที่ทำการไปรษณีย์พยุหะคีรี เป็นเงิน 3,581 บาท และ 3,442 บาท ตามลำดับ โจทก์เป็นผู้ให้บริการและรับเงินค่าบริการจากผู้ใช้บริการทั้งสองรายโดยออกใบเสร็จรับเงินตามแบบ ป.250 ให้ผู้ใช้บริการ แต่ไม่นำเงินเข้าระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติ (CA POS) ของจำเลยที่ 1 ในวันที่รับเงิน และไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ที่พิมพ์ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ใช้บริการ ต่อมานายเกษม หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์พยุหะคีรีและเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นของโจทก์ตรวจพบความผิดปกติจึงให้โจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริง โจทก์ชี้แจงว่าศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 (จังหวัดนครสวรรค์) นำใบแจ้งหนี้ ป.250 มาชำระค่าฝากส่งรายเดือนโดยไม่ได้นำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาด้วย โจทก์จึงให้คืนใบเสร็จ และให้นำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้ภายหลังผู้ใช้บริการนำเงินมาชำระในวันที่ 4 สิงหาคม 2551 และได้นำเงินเข้าระบบแล้ว ส่วนสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์สาขาพยุหะคีรีนำเงินมาชำระในวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ได้นำเงินเข้าระบบแล้ววันที่ 4 สิงหาคม 2551 แต่ในชั้นให้ถ้อยคำต่อนายเกษมโจทก์ให้ถ้อยคำว่าผู้ใช้บริการรายศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 (จังหวัดนครสวรรค์) ชำระเงินในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 แต่ไม่ได้นำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาแสดง ระหว่างที่รอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โจทก์เก็บเงินค่าบริการไว้ในลิ้นชักแล้วหลงลืม เมื่อนึกได้จึงติดต่อผู้ใช้บริการขอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ผู้ใช้บริการบอกว่าไม่ประสงค์จะหักภาษี ณ ที่จ่าย โจทก์จึงนำเงินเข้าฝากในระบบในวันที่ 5 สิงหาคม 2551 ส่วนผู้ใช้บริการรายสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์สาขาพยุหะคีรีนั้นโจทก์หลงลืมเงินไว้ในลิ้นชัก เมื่อนึกได้จึงนำเงินเข้าระบบของจำเลยที่ 1 ซึ่งนายเกษมพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ชี้แจงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ จึงมีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่จึงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่าเป็นความผิดฐานทุจริตและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งลงโทษให้ไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์นำคดีมาฟ้องศาล ในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่า ได้รับชำระเงินค่าบริการฝากส่งไปรษณีย์จากผู้ใช้บริการรายศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 (จังหวัดนครสวรรค์) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 และได้รับจากผู้ใช้บริการรายสำนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์สาขาพยุหะคีรีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 แล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในชั้นศาลแตกต่างจากที่ยกขึ้นชี้แจงต่อนายเกษมหัวหน้างาน ไม่น่าเชื่อว่าการที่โจทก์ไม่นำเงินค่าบริการฝากส่งไปรษณีย์ของผู้ใช้บริการทั้งสองรายเข้าระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์อัตโนมัติของจำเลยที่ 1 ในวันรับชำระค่าบริการเพราะโจทก์รอหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ใช้บริการหรือหลงลืมดังที่โจทก์อ้าง เป็นการกระทำโดยทุจริตและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์นับว่ามีเหตุผลสมควรเพียงพอ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์ คำสั่งลงโทษของนายเกษมหาได้เป็นที่สุด แต่ยังมีกระบวนการตรวจสอบโดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงซึ่งอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ การลงโทษไล่ออกจึงชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ถือเป็นการลงโทษซ้ำ ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย
พิพากษายืน