คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16224/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจะขับรถยนต์ของกลางไปเรียนหนังสือในตอนเช้า และกลับบ้านในตอนเย็นเป็นประจำ รวมทั้งหากจำเลยมีธุระหรือจะไปซื้อของก็จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ได้โดยผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาจะไม่หวงห้ามและไม่ต้องขออนุญาตก่อน และก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน จำเลยขอยืมโทรศัพท์ของกลางจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวไปใช้โดยเปลี่ยนซิมการ์ด แต่จำเลยจะนำโทรศัพท์ไปใช้ที่ไหนอย่างไรนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบนั้น แสดงว่าจำเลยสามารถใช้โทรศัพท์ของกลางดังกล่าวได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการสอบถามถึงเหตุผลของการนำทรัพย์ของกลางไปใช้ ทั้งที่จำเลยยังเป็นนักศึกษาและอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้คัดค้านทั้งสอง เช่นนี้ผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากผู้ร้องฟ้องนายกิตติพัฒน์หรืออ๊อฟหรืออ้วน เป็นจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และผู้ร้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่นเอ็น 70 หมายเลข 08 6025 2245 และรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 6 พ – 5508 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลาย เพื่อให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้คืนรถยนต์กระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามคำร้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย รุ่นเอ็น 70 หมายเลข 08 6025 2245 จำนวน 1 เครื่อง และรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีเทา หมายเลขทะเบียน 6 พ – 5508 กรุงเทพมหานคร 1 คัน แจ้งข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองว่า ศาลมีอำนาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่และรถยนต์กระบะของกลาง ซึ่งเป็นของผู้คัดค้านทั้งสองหรือไม่ คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของผู้ร้องว่า จำเลยใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่ผู้ซื้อ และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ดังนั้นรถยนต์กระบะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และทรัพย์สินซึ่งจำเลยนำมาใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้ผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสาม ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งอ้างว่า เป็นเจ้าของของกลางที่ถูกยึดมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิด และจะมีการนำทรัพย์สินของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด แต่จากทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวกับรถยนต์กระบะของกลางคงได้ความว่า จำเลยจะขับรถยนต์กระบะของกลางไปเรียนหนังสือในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นเป็นประจำ รวมทั้งหากจำเลยมีธุระหรือจะไปซื้อของก็จะนำรถยนต์กระบะไปใช้ได้โดยผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาจะไม่หวงห้ามและไม่ต้องขออนุญาตก่อน รวมทั้งทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน จำเลยขอยืมโทรศัพท์ของกลางไปใช้โดยเปลี่ยนซิมการ์ด แต่จำเลยจะนำโทรศัพท์ไปใช้ที่ไหนอย่างไรนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวไม่ทราบนั้น เป็นเพียงการนำสืบถึงกรณีที่จำเลยสามารถใช้ทรัพย์ของกลางได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการสอบถามถึงเหตุผลของการนำทรัพย์ของกลางไปใช้ ทั้งที่จำเลยยังเป็นนักศึกษาและอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้คัดค้านทั้งสอง หากมีการสอบถามหรือสังเกตถึงพฤติกรรมของการใช้ทรัพย์ของกลางว่าจะมีการนำไปใช้ในกิจการใด ที่ไหน หรืออย่างไรแล้ว ย่อมจะทราบถึงพฤติกรรมของจำเลยว่าข้องเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือไม่ การนำสืบของผู้คัดค้านทั้งสองจึงเป็นเพียงนำสืบว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของของกลางและไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยเท่านั้น โดยไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายได้ ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share