คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันดังกล่าว และหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีขึ้นเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกหนี้มิใช่เงินที่กำหนดจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานหรือต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน หนี้ค่าชดเชยและสินค้าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างและไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงินที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นสินจ้างตามมาตรา 575 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (9) เมื่อนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความแล้ว ไม่อาจขอรับชำระหนี้เฉพาะหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
มีคนร้ายลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไป ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้พนักงานการเงินและบัญชีไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผลจากการสืบสวนได้ตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงของเจ้าหนี้ในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงได้เลิกจ้างเจ้าหนี้ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดข้อหาลักทรัพย์การที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาล้วนมีขึ้นจากดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ การที่ลูกหนี้ร้องขอจนศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ลูกหนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการล้วนเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนสอบสวนแล้วดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ย่อมบ่งชี้และทำให้ลูกหนี้เข้าใจได้ว่าเจ้าหนี้เป็นผู้ลักทรัพย์ของลูกหนี้ไป ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ลูกหนี้จะเลิกจ้างเจ้าหนี้ได้ แม้ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ก็ไม่มีผลทำให้การเลิกจ้างของลูกหนี้กลับเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในขณะมีการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไว้โดยชัดแจ้ง ศาลล้มละลายกลางกำหนดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 จึงชอบแล้ว
เมื่อลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่เจ้าหนี้ทันที เมื่อไม่จ่ายให้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป แต่สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องที่พ้นกำหนดอายุความดังกล่าวเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มีการทวงถามก่อน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 และตั้งบริษัท บี.อาร์.ซี.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2545 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ และดอกเบี้ยเป็นเงิน 591,813.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 256,090 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย รวมเป็นเงิน 129,621.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้กระทำละเมิดต่อเจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ
ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้มิใช่ผู้ผิดนัดชำระหนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียงต้นเงินจำนวน 56,090 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้และผู้บริหารแผนเป็นคดีเดียวกัน และพิจารณาแล้วมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ต้นเงินค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวมเป็นเงิน 56,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย้อนหลังไป 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้ได้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ค่าชดเชย ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ซึ่งเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าชดเชยจำนวน 47,400 บาท ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 790 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,900 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้เสนอจะจ่ายให้ และต่างมิได้โต้แย้งถึงจำนวนหนี้เหล่านี้ว่าไม่ถูกต้อง จึงฟังว่าหนี้แต่ละรายการมีจำนวนดังกล่าว แต่อย่างใดก็ดีหนี้ที่ขอรับชำระเหล่านี้จะต้องไม่ต้องห้ามขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวมาว่าลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 เจ้าหนี้จึงอาจบังคับเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้มีขึ้นเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาจ้างของลูกหนี้ มิใช่เงินที่กำหนดจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานหรือต้องจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่ค่าจ้างและไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนหนี้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงินที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) ดังนี้ เมื่อนับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความแล้ว ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เฉพาะหนี้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่าลูกหนี้กระทำละเมิดและเลิกจ้างเจ้าหนี้โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีคนร้ายลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไปโดยทุจริตในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2535 เวลากลางวันถึงวันที่ 4 มกราคม 2536 เวลากลางวัน ลูกหนี้ได้มอบอำนาจให้นางสาวสมศรี แม้นพิมลชัย พนักงานการเงินและบัญชีของลูกหนี้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผลจากการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจพบรอยนิ้วมือและฝ่ามือแฝงของเจ้าหนี้ในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงดำเนินคดีแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงได้เลิกจ้างเจ้าหนี้ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดข้อหาลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ ซึ่งในสำนวนคดีนี้คงปรากฏข้อเท็จจริงจากบันทึกถ้อยคำของเจ้าหนี้เท่านั้นที่ว่าลูกหนี้อ้างว่าเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ส่อแนวโน้มไปในทางทุจริตต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ฟังได้ว่าลูกหนี้ยืนยันและเป็นการกลั่นแกล้งจนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องถูกดำเนินคดีอาญา ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ การที่เจ้าหนี้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาล้วนมีขึ้นจากดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานอัยการ การที่ลูกหนี้ร้องขอจนศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ลูกหนี้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนังงานอัยการล้วนเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่เป็นการละเมิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนแล้วดำเนินคดีแก่จำเลยย่อมบ่งชี้และทำให้ลูกหนี้เข้าใจได้ว่าเจ้าหนี้เป็นผู้ลักทรัพย์เงินสดจำนวน 93,013 บาท ของลูกหนี้ไป ซึ่งเป็นเหตุอันสมควรที่ลูกหนี้จะเลิกจ้างเจ้าหนี้ได้ แม้ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ก็หามีผลทำให้การเลิกจ้างของลูกหนี้กลับเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ จึงไม่มีหนี้ส่วนนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระได้
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ในขณะมีการเลิกสัญญาจ้างแรงงาน มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ไว้โดยชัดแจ้ง เช่นนี้ที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นั้นจึงชอบแล้วและเมื่อลูกหนี้เลิกจ้างเจ้าหนี้จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่เจ้าหนี้ทันที เมื่อลูกหนี้ยังมิได้จ่ายให้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกการจ้างวันที่ 30 มีนาคม 2536 เป็นต้นไป แต่สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องที่พ้นกำหนดอายุความดังกล่าวเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มีการทวงถามก่อน เห็นควรกำหนดดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไป คำสั่งของศาลล้มละลายกลางจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าชดเชยจำนวน 47,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545) ย้อนหลังไป 5 ปี และนับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และได้รับชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share