คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารมีข้อความว่า ‘……เรียนนายบุญมีเนื่องด้วยท่านได้ประพฤติผิดระเบียบของห้างดังนี้……16 ขาดงานบ่อยไม่ตั้งใจทำงาน……ถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบของห้าง ฯ จึงขอแจ้งให้ท่านทราบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมต่อไป โดยการลงโทษดังนี้เตือนด้วยวาจา……’ ท้ายเอกสารนี้โจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบต่อท้ายลายมือชื่อผู้ตักเตือนไว้ เอกสารดังกล่าวมีข้อความที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงความผิดที่กระทำ และให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมต่อไป จึงมีลักษณะเป็นการตักเตือนโจทก์ในความผิดนั้นแล้ว หาใช่เป็นเพียงบันทึกการเตือนด้วยวาจาไม่ เมื่อโจทก์ขาดงานเป็นการละทิ้งหน้าที่ซ้ำอีก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 47(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ปรากฏสาเหตุ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบการทำงานของจำเลย อันเป็นการเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างและเป็นธรรมแก่โจทก์ กล่าวคือโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเสพสุราหรือของมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ขาดงานเป็นประจำ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ได้ทำหนังสือภาคทัณฑ์ไว้ว่า ยอมให้จำเลยลงโทษพักงาน ๗ วัน และสัญญาว่าจะไม่ขาดงานหรือดื่มสุราจนเมามายอีก มิฉะนั้นยอมให้ปลดจากงานได้ในทันที แต่โจทก์ก็ยังดื่มสุราเมามายจนทำงานไม่ได้ และขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรอีกหลายครั้ง จำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่โจทก์ไม่เชื่อฟัง กลับทำการอันเป็นที่เสียหายแก่จำเลยต่อไป จำเลยจึงบอกเลิกจ้างโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ขาดงานเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่ไม่ถึง ๓ วันทำงานติดต่อกัน มีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแต่จำเลยไม่ได้เตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อนเลิกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย คำขออื่น ๆ ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเอกสารหมาย ล.๑ มีข้อความว่า ‘……เรียนนายบุญมี เนื่องด้วยท่านได้ประพฤติผิดระเบียบของห้างดังนี้ …. ๑๖.ขาดงานบ่อยไม่ตั้งใจทำงาน….ถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบของห้าง ฯ จึงขอแจ้งให้ท่านทราบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เพื่อท่านจะได้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมต่อไป โดยการลงโทษดังนี้ เตือนด้วยวาจา …….’ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้โจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบต่อท้ายลายมือชื่อผู้ตักเตือนรับทราบรายงานความประพฤติแล้ว ยอมรับว่ามีความผิดดังกล่าวจริง และรับว่าจะแก้ไขปรับปรุงความประพฤติให้เหมาะสมต่อไป ดังนี้ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวมีข้อความที่จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงความผิดที่กระทำ และให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมต่อไปหนังสือดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการตักเตือนโจทก์ในความผิดนั้นแล้ว หาใช่เพียงบันทึกการเตือนด้วยวาจาดังความเห็นของศาลแรงงานกลางไม่ เมื่อโจทก์ยังกระทำผิดระเบียบข้อบังคับโดยการขาดงานเป็นการละทิ้งหน้าที่ซ้ำอีก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗(๓)
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share