คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่ข้อเท็จจริงมีเพียงว่า มีผู้แจ้งความ (ในข้อหาชิงทรัพย์) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2508 ต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2508 สายลับแจ้งว่าจำเลยกลับมานอนบ้านเจ้าพนักงานจึงไปจับจำเลย เข้าจับเวลา 5.40 นาฬิกา ไม่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตพิเศษจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือไม่อาจขอได้ทันเพราะเหตุใด เช่นนี้ คดีไม่พอจะฟังว่าเป็นการฉุกเฉินอย่างยิ่ง ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานจับจำเลยในที่รโหฐานในเวลากลางคืนจึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ หากจำเลยต่อสู้ จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน (ป.วิ.อ.มาตรา 96(2))
จำเลยให้การว่า ได้ทำร้ายเจ้าพนักงานจริง แต่ต่อสู้ว่า สำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายและได้ต่อสู้เช่นนี้มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน เมื่อพิเคราะห์การกระทำของเจ้าพนักงานที่ขึ้นไปจับจำเลยบนเรือนในเวลากลางคืนขณะจำเลยยังนอนอยู่และทันทีที่รู้ตัวจำเลยก็ลุกขึ้นสู้เช่นนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยไม่ทันเข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน และการกระทำของจำเลยเท่าที่ได้กระทำไปนั้น (มีดฟัน 1 ที) ก็พอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด (ป.อาญา มาตรา 68)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๐๘ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงสิบตำรวจตรีจำเนียร สิบตำรวจโทหอม สิบตำรวจโทเสงี่ยม และพลตำรวจสมัครสุวิทย์ ได้ร่วมกับร้อยตำรวจเอกสินธ์ ผู้บังคับกองสถานีตำรวจอำเภอแสวงหา ไปจับนายตุ้ม และจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ของนายชิดซึ่งนายชิดได้แจ้งขอให้จับและร้องทุกข์ไว้แล้ว จำเลยนี้ได้ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายร่างกายสิบตำรวจตรีจำเนียรขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า ได้ทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจจริง เพราะสำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย บาดแผลที่ทำร้ายจะมากน้อยเพียงใด ไม่ทราบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ให้ลงโทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วโจทก์ชี้แจงมาในฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ร้ายสำคัญ เมื่อเจ้าพนักงานทราบจากสายลับแล้วไม่สามารถขออนุญาตพิเศษจากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทัน จึงถือได้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง ข้อเท็จจริงมีเพียงว่า มีผู้แจ้งความเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ ต่อมาวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๐๘ สายลับจึงแจ้งว่าจำเลยกลับมานอนที่บ้าน ครั้นเวลาประมาณ ๓.๐๐ นาฬิกา เจ้าพนักงานจึงพากันไปจับจำเลยและเข้าจับเวลา ๕.๔๐ นาฬิกา ไม่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตพิเศษจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือไม่อาจขอได้ทันเพราะเหตุใดกรณีฉุกเฉินตามมาตรา ๙๖(๒) ต้องเป็นการฉุกเฉินอย่างยิ่ง จึงจะต้องด้วยข้อยกเว้นนั้น ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบมาแล้ว เห็นว่าคดีไม่พอจะฟังว่ากรณีนี้เป็นการฉุกเฉินอย่างยิ่ง ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานไปจับจำเลยในที่รโหฐาน ในเวลากลางคืน จึงไม่มีอำนาจที่จะทำได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามนัยฎีกาที่ ๑๘๗/๒๕๐๗
โจทก์นำสืบด้วยว่า เมื่อขึ้นไปบนเรือนได้ร้องบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนแต่งเครื่องแบบ แต่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายและได้ต่อสู้เช่นนี้มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน พิเคราะห์การกระทำของเจ้าพนักงานที่ขึ้นไปบนเรือนในขณะที่ยังเป็นเวลากลางคืน จำเลยยังนอนอยู่และทันทีที่รู้ตัวจำเลยก็ลุกขึ้นสู้เช่นนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่ทันเข้าใจว่าคนเหล่านั้นเป็นเจ้าพนักงาน และการกระทำของจำเลยเท่าที่ได้กระทำไปนั้น (มีดฟัน ๑ ที) ก็พอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘
พิพากษายืน.

Share