คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นอกจากหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องจะมีข้อความแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว ยังมีข้อความเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องร่วมกันลงชื่อในหนังสือดังกล่าว จึงฟังได้ว่าวันที่มีการบอกกล่าวการโอนนั้น จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องก่อน แล้วจึงบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้โดยทำเป็นหนังสือไว้ในเอกสารฉบับเดียวกัน การโอนสิทธิเรียกร้อง และการบอกกล่าวการโอนดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้จะปรากฏว่าในวันต่อมาจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวขึ้นอีกฉบับหนึ่งก็ไม่เป็นเหตุให้การบอกกล่าวการโอนนั้นเสียไป กฎหมายเพียงแต่กำหนดให้ผู้อ้างเอกสารมีหน้าที่ชำระค่าอ้างตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป มิใช่ว่าหากไม่ชำระทันทีแล้วจะรับฟังเอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ การที่ผู้ร้องเพิ่งชำระค่าอ้างขณะยื่นคำแก้อุทธรณ์โดยไม่ปรากฏเหตุว่ามีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งศาล แต่พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นเพราะหลงลืมมาทราบภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีการชำระค่าอ้างดังกล่าวนับว่าผู้ร้องได้จัดการแก้ไขข้อหลงลืมแล้วไม่ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องถึงกับเสียไป คดีขอให้ถอนคำสั่งอายัดชั่วคราวเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่โจทก์อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาว่าจะอายัดได้หรือไม่ก็เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารเรียนจำนวน 425,836 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งอายัดเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดน้อยนพคุณที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 600,000 บาทไว้ก่อนมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นสั่งอายัดตามขอ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้ร้องโดยชอบแล้วก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดขอให้เพิกถอนคำสั่ง
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 มิได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินที่โจทก์ขออายัดให้แก่ผู้ร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องเป็นไปโดยมิชอบเพราะบอกกล่าวการโอนไปยังกรมสามัญศึกษาก่อนโอนสิทธิเรียกร้อง และกรมสามัญศึกษามิได้ยินยอมด้วยในการโอน ในขณะที่โอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าตนเป็นหนี้ผู้ร้องเท่าใด จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้โอนไปยังผู้ร้องโดยชอบแล้ว และมีคำสั่งให้ถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณาหนังสือแจ้งการโอนเอกสารหมาย ร.8 ก็ปรากฏว่า หนังสือฉบับนี้ลงชื่อทั้งจำเลยที่ 1 และผู้ร้องข้อความในหนังสือ นอกจากเป็นเรื่องแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วยังมีข้อความเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1กับผู้ร้องระบุไว้ด้วย จึงฟังได้ว่า ในวันที่ 19 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้ผู้ร้องก่อน แล้วจำเลยที่ 1 กับผู้ร้องได้ร่วมกันบอกกล่าวการโอนไปยังกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการผู้เป็นลูกหนี้โดยทำเป็นหนังสือไว้ในเอกสารฉบับเดียวกันในวันเดียวกันตามเอกสารหมาย ร.8 การโอนสิทธิเรียกร้องและการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแม้จะปรากฏว่า ในวันที่ 20 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามเอกสารหมาย ร.7 ขึ้นอีกฉบับหนึ่งก็ไม่เป็นเหตุให้การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย ร.8 เสียไป
การชำระค่าอ้างเอกสารกฎหมายเพียงแต่กำหนดให้มีหน้าที่ชำระตั้งแต่เมื่อส่งเอกสารเป็นต้นไป มิใช่ว่าหากไม่ชำระทันทีแล้วจะรับฟังเอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ คดีนี้ผู้ร้องเพิ่งชำระค่าอ้างขณะยื่นคำแก้อุทธรณ์ก็จริง แต่ก็ไม่ปรากฏว่า เหตุที่ยังไม่ชำระเนื่องมาจากผู้ร้องเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งศาล พฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นเพราะหลงลืม มาทราบภายหลังเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษา และได้ชำระขณะยื่นคำแก้อุทธรณ์นับว่าผู้ร้องได้จัดการแก้ไขข้อหลงลืมแล้วไม่ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องถึงกับเสียไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีของผู้ร้องที่ขอให้ถอนคำสั่งอายัดชั่วคราวเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่โจทก์อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาว่า จะอายัดได้หรือไม่ก็เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์การเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้แก่โจทก์

Share