แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำบอกเล่าของผู้ตายที่บอกกับพยานขณะที่พยานเข้าไปช่วยห้ามเลือดที่คอของผู้ตายซึ่งถูกทำร้ายว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนทำร้ายผู้ตายนั้น ขณะนั้นผู้ตายยังรู้สึกตัวและไม่คิดว่าตนเองจะตายคำบอกเล่าดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา33, 58, 80, 83, 91, 276, 288, 289 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 276 วรรคแรก, 289(7) ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด โดยให้ลงโทษฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา จำคุกคนละ 8 ปีกระทงหนึ่ง และฐานฆ่าผู้อื่น ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสามอีกกระทงหนึ่ง แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมได้คงให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยถือว่าคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นาง ส. ถูกคนร้ายพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และใช้มีดเป็นอาวุธแทงถึงแก่ความตาย โดยผู้ตายมีบาดแผลถูกแทงด้วยของมีคมลึก 15 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ตามรายงานชันสูตรศพของแพทย์ท้ายฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ …การที่นายดำรงค์กับพวกระบุว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย ก็น่าจะสืบเนื่องมาจากคำบอกเล่าของผู้ตายซึ่งเรื่องนี้นายดำรงค์กับนางพิน เบิกความว่าเมื่อพยานทั้งสองไปถึงที่เกิดเหตุ ผู้ตายยังพูดได้ ผู้ตายบอกให้นางพินช่วยห้ามเลือดที่บริเวณคอและบอกว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย สำหรับนายพยูรเบิกความว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ เห็นผู้ตายนอนอยู่ที่พื้นผู้ตายบอกนางพินให้ช่วยห้ามเลือดที่คอไม่ให้ออกมาก ผู้ตายยังคิดว่าตนเองไม่ตาย เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้ตายบอกว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้าย ผู้ตายยังรู้สึกตัว และไม่คิดว่าตนเองจะตาย คำบอกเล่าของผู้ตายดังกล่าว จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟัง พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน