แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้ทำ ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 วรรคสามบัญญัติให้โอนอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการอำเภอไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ การทำพินัยกรรม เอกสารฝ่ายเมืองในปัจจุบันจึงตกเป็นอำนาจและหน้าที่ ของนายอำเภอ เป็นผู้ทำซึ่งถ้านายอำเภอไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามปกติก็ตกเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา 42 การที่นายอำเภอมาปฏิบัติราชการอยู่ แต่ติดราชการจะไปท้องที่ จึงสั่งให้ปลัดอำเภอ ช่วยไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแทนเพื่อให้งานเสร็จไปโดยเร็วนั้น ปลัดอำเภอผู้นั้นเป็นแต่เพียงผู้ทำงานแทนนายอำเภอ หาใช่เป็น ผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอไม่ การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง นั้นจึงเป็นการที่ทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1705 ไม่เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองแต่ เมื่อ พินัยกรรมนั้นเจ้ามรดกได้ทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน อนุโลมเข้าแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656 จึงสมบูรณ์ใช้ได้ เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามมาตรา 136
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดกับนายบุญเลิศ เกาไศยนันท์ สามีจำเลยเป็นบุตรนายเชื้อกับนางทองห่อ เกาไศยนันท์ นายเชื้อกับนางทองห่อเป็นสามีภริยากันชอบด้วยกฎหมาย ต่างมีสินเดิม มีสินสมรส คือที่ดินโฉนดที่ 2154 เนื้อที่ 47 ไร่ ตกลงกันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนางทองห่อ 27 ไร่ เป็นของนายเชื้อ 20 ไร่ นางทองห่อมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินของนางสาวเก็บ ตาดต่าย ซึ่งเป็นน้องสาวคือที่ดินโฉนดที่ 336 เนื้อที่ 6 ไร่ เมื่อนางทองห่อป่วยหนัก นายเชื้อโอนที่ดินโฉนดที่ 2154 ส่วนของตน 20 ไร่ให้นายบุญเลิศ นายบุญเลิศขอร้องนายเชื้อโอนที่ดิน 27 ไร่ส่วนของนางทองห่อให้ด้วย เพื่อเอาค่าเช่านา 27 ไร่เลี้ยงดูนายเชื้อกับนางทองห่อขณะยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายแล้วจะจำหน่ายเพื่อเผาศพและแบ่งกันระหว่างทายาท นายเชื้อจึงให้นายบุญเลิศลงชื่อไว้แทนตนและทายาททั้งแปลงโดยนางทองห่อมิได้ตกลงยินยอมด้วย จนกระทั่งนางทองห่อถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2503 นายเชื้อครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ยังมิได้แบ่งกัน ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2508 นายเชื้อถึงแก่กรรม นายบุญเลิศสามีจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกรายนี้ไว้วันที่ 27 ธันวาคม 2508 นายบุญเลิศถึงแก่กรรม เมื่อนายบุญเลิศถึงแก่กรรม จำเลยขอรับมรดกนายบุญเลิศ ที่ดินโฉนดที่ 2154 หมดทั้งแปลง โดยจำเลยรู้ว่าเป็นที่ดินของนางทองห่อ 27 ไร่ ส่วนที่ดินโฉนดที่ 336 ที่นางทองห่อมีสิทธิรับมรดกของนางสาวเก็บ 6 ไร่นั้น นายบุญเลิศได้ไปขอรับมรดกโดยไม่สุจริต จำเลยครอบครองที่ดินนี้อ้างว่าเป็นของนายบุญเลิศ และเมื่อนายเชื้อถึงแก่กรรมมีทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 5 รวมเป็นเงิน 18,250 บาท นายบุญเลิศครอบครองอยู่ นายบุญเลิศถึงแก่กรรม จำเลยก็ครอบครองอยู่ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ 2154 เนื้อที่ 27 ไร่และที่ดินโฉนดที่ 336 เนื้อที่ 6 ไร่เป็นมรดกของนางทองห่อ ให้เพิกถอนทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่โอนมาเป็นของนายบุญเลิศ เกาไศยนันท์ ให้กลับสู่สภาพเดิม และแบ่งให้โจทก์ 7 คนรวมทั้งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 5 หากไม่มีตัวทรัพย์อยู่หรือส่งมอบให้ไม่ได้ก็ให้คิดเงินตามราคา
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดที่ 2154 เป็นของนายเชื้อ เกาไศยนันท์ ผู้เดียว นายเชื้อให้นายบุญเลิศ เกาไศยนันท์เป็นสินส่วนตัวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2503 มิใช่ของนางทองห่อ เกาไศยนันท์ ที่ดินโฉนดที่ 336 ส่วนของนางสาวเก็บ ตาดต่าย 6 ไร่ ซึ่งจะตกเป็นมรดกของนางทองห่อ เกาไศยนันท์นั้น นายเชื้อ เกาไศยนันท์ ได้รับมรดกมาจากนางทองห่อแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2508 และนายเชื้อได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนนี้ให้แก่นายบุญเลิศ เกาไศยนันท์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2508 นายบุญเลิศจึงเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 5 นายเชื้อ เกาไศยนันท์ ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกให้แก่นายบุญเลิศเกาไศยนันท์ และผู้อื่น โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่านายเชื้อกับนางทองห่อ เกาไศยนันท์เป็นสามีภรรยากันชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีบุตร 11 คน นายเชื้อกับนางทองห่อยกนาให้แก่บุตรคนที่ 1 ถึงที่ 10 ไปแล้วทุกคนสำหรับนายบุญเลิศบุตรคนที่ 11 นายเชื้อยกที่ดินโฉนดที่ 2154 กับที่ดินโฉนดที่ 336 เฉพาะส่วนเนื้อที่ 6 ไร่ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้ให้ภายหลังบุตรคนอื่น สำหรับทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 5 นายเชื้อทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกให้นายบุญเลิศกับบุตรคนอื่นตามเอกสาร ล.2
โจทก์ฎีกาข้อ 3(1) ว่า ที่ดินโฉนดที่ 2154 เป็นส่วนของนางทองห่อ 27 ไร่ ของนายเชื้อ 20 ไร่ นายเชื้อให้ส่วนของตนแก่นายบุญเลิศ ส่วนของนางทองห่อ นายเชื้อให้นายบุญเลิศลงชื่อไว้แทนนางทองห่อ ข้อนี้ศาลฎีกาเชื่อว่านายเชื้อโอนที่ดินโฉนดที่ 2154 ให้นายบุญเลิศเป็นสินส่วนตัวทั้งแปลง โดยนางทองห่อรู้เห็นยินยอมด้วย ที่ดินโฉนดที่ 2154 จึงเป็นของนายบุญเลิศตั้งแต่ก่อนนางทองห่อถึงแก่กรรมไม่ใช่มรดกของนางทองห่อ
โจทก์ฎีกาข้อ 3(2) ว่า ที่ดินโฉนดที่ 336 มรดกของนางสาวเก็บตกได้แก่นางทองห่อ 6 ไร่ นายเชื้อโอนรับมรดกมาแล้วโอนให้นายบุญเลิศลงชื่อแทน ข้อนี้ศาลฎีกาฟังว่านายเชื้อรับมรดกที่ดินส่วนนี้มาเป็นของตนก่อน แล้วจึงโอนให้นายบุญเลิศ จึงตกเป็นของนายบุญเลิศแล้ว ไม่ใช่มรดกของนางทองห่อ
“โจทก์ฎีกาข้อ 3(3) ว่า พินัยกรรมของนายเชื้อทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอผู้เดียวทำ นายสกุลธีระมงคล ปลัดอำเภอพยานจำเลยทำไม่ได้ ตกเป็นโมฆะ ข้อเท็จจริงในการทำพินัยกรรมของนายเชื้อได้ความว่า นายบุญเลิศนำคำร้องของนายเชื้อไปยื่นต่อนายอำเภอบางบ่อขอให้ไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองให้ที่บ้านนายเชื้อนายอำเภอบางบ่อติดราชการจะไปท้องที่จึงสั่งด้วยวาจาให้นายสกล ธีระมงคล ปลัดอำเภอไปทำแทน นายสกลธีระมงคลได้ไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองให้นายเชื้อแทนนายอำเภอบางบ่อ ตามเอกสาร ล.2 โดยขณะนั้นนายสกล ธีระมงคลมิได้รักษาราชการแทนนายอำเภอบางบ่อ ดังนี้จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า พินัยกรรมตามเอกสาร ล.2 ทำขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6มาตรา 1658 บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้ทำ ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2495 มาตรา 40 วรรค 3 บัญญัติว่า”บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการอำเภอหรือนายอำเภอ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรมการอำเภอและนายอำเภอมีอยู่ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ” ดังนั้น การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองในปัจจุบันจึงตกเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอเป็นผู้ทำ ซึ่งถ้านายอำเภอไม่อาจปฏิบัติราชการได้ตามปกติก็ตกเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้รักษาราชการแทนทำตามมาตรา 42 การที่นายอำเภอบางบ่อมาปฏิบัติราชการอยู่ แม้ติดราชการจะไปท้องที่และนายอำเภอบางบ่อได้สั่งด้วยวาจาให้นายสกล ธีระมงคล ปลัดอำเภอช่วยไปทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแทนเพื่อให้งานเสร็จไปโดยเร็วเช่นนี้ นายสกล ธีระมงคล ก็เป็นแต่เพียงผู้ทำงานแทนนายอำเภอบางบ่อหาใช่เป็นผู้รักษาราชการแทนนายอำเภอบางบ่อไม่ การที่นายสกลธีระมงคล ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ล.2 จึงเป็นการกระทำที่ทำไปโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 719/2500พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายสมกิจ วัฒนาวิกย์กิจ กับพวกจำเลย ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ไม่เป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง แต่พินัยกรรมฉบับนี้นายเชื้อได้ทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันอนุโลมเข้าแบบพินัยกรรมธรรมดา ตามมาตรา 1656 จึงสมบูรณ์ใช้ได้เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามมาตรา 136 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1077/2494 นางสาวน้าว ดีโต กับพวก โจทก์ นางเพิ่ม ห่วงมี กับพวก จำเลย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงตกไป”
พิพากษายืน