คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่พิพาทมาก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของแม้ต่อมาจำเลยจะขอเช่าจากเจ้าของและเจ้าของไม่ยอมให้เช่า จำเลยก็หาได้ครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิโจทก์ไม่ โจทก์จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยคงอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิ ก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของ มิใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งยังมิได้รับมอบการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขออาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินซึ่งโจทก์เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โจทก์ต้องการที่ดินคืนบอกกล่าวให้จำเลยออก จำเลยกลับขัดขืน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไป และใช้ค่าเสียหาย

จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมิได้อาศัยโจทก์แต่ได้เซ้งที่ดินจากนายจิตรผู้ทรงสิทธิการเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2500 และต่อเติมอาคารโดยได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2507 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

วันสืบพยานโจทก์ โจทก์ส่งเอกสาร จ.1, 2, 3, 4 และจำเลยส่งเอกสาร ล.1 คู่ความต่างรับรองเอกสารเหล่านั้น โจทก์แถลงว่าในประเด็นข้อที่ว่า จำเลยขออาศัยและค่าเสียหาย โจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน และโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โจทก์ทำสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2507 จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอเช่าเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2509 และยังไม่ได้รับอนุญาต โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย พิพากษาให้จำเลยรื้อบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้อง คำให้การและคำรับของคู่ความประกอบพยานเอกสารฟังได้ว่า ที่พิพาทนี้เดิมนายจิตร ไทรสาหร่ายเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีเนื้อที่ 7.91 ตารางวา วันที่ 7 สิงหาคม 2500 จำเลยได้ขอเซ้งที่นี้ยาว 10 ศอก กว้าง 7 ศอก จากนายจิตร แล้วจำเลยได้ต่อเติมบ้านของจำเลยเข้ามาในที่ซึ่งจำเลยเซ้งจากนายจิตร วันที่ 17 สิงหาคม 2500 โจทก์ได้ซื้อห้องแถวของนายจิตรที่ปลูกอยู่ในที่ดินนี้ตามเอกสาร จ.4 แล้วต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2507 ตามเอกสาร จ.3 ส่วนจำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอเช่าที่แปลงนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2507 ตามเอกสารจ.2 แต่ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่อนุญาตให้จำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้คู่ความมิได้พิพาทกันในเรื่องแย่งสิทธิการเช่าว่าใครมีสิทธิดีกว่ากัน จำเลยครอบครองที่พิพาทอยู่ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่พิพาทนี้จำเลยหาได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยคงอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธินั้น เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดินหาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองในที่พิพาทโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share