คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 15 ปี 6 เดือน เป็นเยาวชนแต่ในท้องที่จังหวัดสกลนครซึ่งจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติและเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58(3)การที่ศาลชั้นต้นไม่นำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่คดีจึงชอบแล้ว แต่จำเลย กระทำความผิดขณะอายุยังไม่เกิน 17 ปี ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2537 เวลากลางวันมีคนร้ายปีนหน้าต่างกุฎิวัดป่าหนองนกกด อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของสามเณรก้องเกียรติ อ่อนสุระทุม ผู้เสียหายที่ 1แล้วลักวิทยุเทปชนิดหูฟัง 1 เครื่อง ราคา 300 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยทุจริต ต่อมาคนร้ายปีนหน้าต่างกุฎิซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสามเณรชูชาติ เจริญธรรม ผู้เสียหายที่ 2 แล้วลักวิทยุเทปหูฟัง1 เครื่อง ราคา 700 บาท หม้อแปลงไฟ 1 เครื่อง ราคา 150 บาทพระเครื่องชนิดต่าง ๆ รวม 32 องค์ ราคา 5,000 บาท และสร้อยคอสแตนเลส 1 เส้น ราคา 20 บาท รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น5,870 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไปโดยทุจริต และคนร้ายได้ปีนหน้าต่างกุฎิซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสามเณรวีรยุทธ ท้าวนาง ผู้เสียหายที่ 3 แล้วลักนาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 200 บาท ของผู้เสียหายที่ 3 ไปโดยทุจริต ต่อมาในวันที่ 17 กันยายน 2537 เวลากลางวันจำเลยได้ปีนหน้าต่างกุฎิวัดป่าหนองนกกด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายที่ 3 อีกครั้งหนึ่ง แล้วลักกระปุกออมสิน 1 ลูก ราคา 25 บาท เงินสดจำนวน 33 บาท รวมราคาทรัพย์ 58 บาท ของผู้เสียหายที่ 3ไปโดยทุจริต ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเงินสด 33 บาท ของผู้เสียหายที่ 3 ที่ถูกจำเลยลักไปและยึดได้ทรัพย์ทั้งหมดของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในครอบครองของจำเลย กับติดตามยึดได้กระปุกออมสินของผู้เสียหายที่ 3 ในสภาพแตกแล้วเป็นของกลาง ทั้งนี้ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยได้กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันโดยจำเลยได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 หรือรับของโจรซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เหตุลักทรัพย์และรับของโจรเกิดที่ตำบลไฮหย่องอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 91 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคานาฬิกาที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 200 บาทและชดใช้ราคากระปุกออมสินเป็นเงิน 25 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 3 ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1ถึงที่ 3 กับฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 รวม 3 กระทง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(4)(8) วรรคสาม อีก 1 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษรวม 4 กระทง ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานรับของโจรจำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานรับของโจรกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทงจำคุก 18 เดือนฐานลักทรัพย์จำคุก 1 ปี รวมโทษจำคุก 1 ปี 18 เดือน ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคากระปุกออมสินจำนวน 25 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ในส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 3 แล้วลักนาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 200 บาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริตนั้น โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรด้วย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 3 เท่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงต้องถือว่าจำเลยให้การปฎิเสธข้อหาฐานลักทรัพย์เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำผิดของจำเลย แต่โจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ และที่โจทก์ฟ้องว่าวันที่ 17 กันยายน 2537เวลากลางวันเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยรับของโจรดังกล่าว โจทก์ก็มิได้สืบพยานว่าจำเลยรับทรัพย์ดังกล่าวได้ต่างวาระกัน จึงรับฟังเป็นประโยชน์แก่จำเลยว่า จำเลยรับทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2ไว้ในคราวเดียวกัน การกระทำผิดฐานรับของโจรของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง กระทงเดียว จำคุก 1 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยเฉพาะที่ศาลฎีกามีคำสั่งรับว่า ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ15 ปี 6 เดือน ศาลจะต้องใช้กฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนและลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 15 ปี 6 เดือน ซึ่งถือว่าจำเลยเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ในท้องที่จังหวัดสกลนครซึ่งจำเลยมีถิ่นที่อยู่ปกติ และเป็นท้องที่ที่จำเลยกระทำความผิดไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวดังนั้น ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดสกลนคร จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 58(3)การที่ศาลชั้นต้นไม่นำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่คดีจึงชอบแล้ว แต่จำเลยกระทำความผิดขณะอายุยังไม่เกิน 17 ปีศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดฐานรับของโจรจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี18 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้โทษลงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือนแต่ไม่รอการลงโทษให้จำเลย แม้จะมีผลให้คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง และจำเลยก็มิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษด้วยศาลฎีกาก็ยังคงมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดขณะที่มีอายุน้อยเพื่อให้โอกาสจำเลยที่จะได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ศาลฎีกาเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้ แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ให้จำคุก 6 เดือน และลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือนเมื่อรวมกับโทษฐานลักทรัพย์แล้วให้จำคุก 1 ปี 3 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปีกับให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share