แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนัก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามมาตรา 157 จำคุก 3 ปีลดโทษให้หนึ่งในสามจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์ และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทำผิดตามมาตรา 200 อีกบทหนึ่งแต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 157 โทษและการลงโทษให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยมีการอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประการแรกควรจะได้วินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยได้ทราบแล้วว่าคนร้ายที่ลักเรือและเครื่องยนต์ของนางเตือนใจแก้วจำนงค์ ไปคือนายเล็ก และนายอ้วน ทั้งจำเลยได้จับนายเล็กนายอ้วน มาได้แล้วปล่อยไปเสียจริงหรือไม่ ปัญหาข้อนี้นางเตือนใจเบิกความว่า พอทราบว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ไปวันรุ่งขึ้นก็ได้เดินทางไปที่สวนส้มได้พบนายชิต แก้วจำนงค์ และนายทองหล่อทับสายทอง คนทั้งสองบอกว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายได้ และได้เรือและเครื่องยนต์คืนมาแล้วแต่ไม่ได้บอกรายละเอียด นางเตือนใจจึงไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์เพื่อดูว่าคนร้ายเป็นใครแต่ไปถึงไม่พบจำเลย ทราบจากเจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่บนสถานีตำรวจว่าจำเลยเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ และตอนนั้นจำเลยอยู่ที่ร้านอาหารในตลาดองครักษ์ นางเตือนใจจึงเดินทางไปพบจำเลยที่ร้านอาหารเมื่อนายทองหล่อและนายชิตแนะนำให้รู้จักกับจำเลยแล้ว นางเตือนใจได้ถามจำเลยว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน จำเลยได้บอกว่าปล่อยไปแล้วซึ่งคำนางเตือนใจนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการเบิกความตรงไปตรงมาไม่มีพิรุธน่าสงสัยเลย ทั้งไม่ปรากฏว่านางเตือนใจเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะเป็นการเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งหรือให้ร้ายจำเลย การที่จำเลยตอบนางเตือนใจว่าได้ปล่อยผู้ต้องหาไปแล้วนั้นแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยได้รู้ตัวคนร้ายและได้ทำการจับกุมมาแล้วจริง แม้นางเตือนใจจะมิได้เบิกความว่าคนร้ายที่จำเลยจับมาคือนายเล็กและนายอ้วนโจทก์ก็มีพันตำรวจเอกชาลี พันธศุข และพันตำรวจโทพจน์ มานะขจรเวชมาเบิกความรับรองว่าได้ร่วมกันสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่จำเลยถูกร้องเรียนในคดีนี้แล้วได้ความว่า นายชิตและนายทองหล่อมาแจ้งความต่อจำเลย เมื่อจำเลยพร้อมกับเจ้าพนักงานตำรวจอีกหลายนายออกไปตรวจที่เกิดเหตุพบเรือและเครื่องยนต์ที่หายไปทั้งสามารถจับนายเล็ก นายอ้วนซึ่งเป็นคนร้ายได้ แต่จำเลยกลับปล่อยตัวไปเสียแม้โจทก์จะไม่ได้ตัวนายชิตและนายทองหล่อมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลแต่ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายชิต นายทองหล่อ ตามเอกสารหมาย จ.2, จ.1 ว่านายชิต นายทองหล่อได้ให้การในชั้นสอบสวนถึงตัวคนร้ายว่ามีนายเล็กนายอ้วน โดยได้ให้รายละเอียดถึงพฤติการณ์ที่จำเลยจับนายเล็ก นายอ้วนได้และปล่อยไปเสียพยานหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้สามารถรับฟังประกอบกันได้ว่าจำเลยได้ทราบว่าคนร้ายที่ลักทรัพย์ตามฟ้องของนางเตือนใจคือนายเล็กนายอ้วน และจำเลยได้จับบุคคลทั้งสองมาได้แล้ว แต่ได้ปล่อยตัวไปเสีย คดียังฟังได้ด้วยว่าเมื่อนางเตือนใจมาขอแจ้งความต่อจำเลยจำเลยก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับแจ้งความให้มาแจ้งความในวันหลังที่จำเลยนำสืบว่า คดีนี้จำเลยไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดจึงยังไม่ได้จับคนร้ายนั้น เห็นว่า จำเลยคงอ้างแต่ตัวเองเข้าเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนเลย จึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้รับแจ้งความจากนายชิต นายทองหล่อว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของนางเตือนใจไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐาน ทั้งเมื่อจับนายเล็ก นายอ้วน ซึ่งเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวมาได้ จำเลยกลับปล่อยบุคคลทั้งสองไปเสียนั้นถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นางเตือนใจเจ้าทรัพย์ ทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยนายเล็ก และนายอ้วนมิให้ต้องโทษ ต้องตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ในข้อหาตามมาตรา 200 เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดในฐานนี้ รวมทั้งได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ รวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรซึ่งจำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 200 อีกบทหนึ่ง โดยมิได้ระบุวรรคนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียให้ถูกต้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุอันควรรอการลงโทษให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 วรรคแรก อีกบทหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์