คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1609/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามจดหมายที่จำเลยมีไปถึงโจทก์ 2 ฉบับ แสดงออกชัดว่ามีการระหองระแหง จำเลยบอกใบ้จะมีภรรยาใหม่ รบเร้าให้เพิกถอนทะเบียนสมรส และจำเลยก็มิได้ให้เห็นเหตุเป็นอย่างอื่น จดทะเบียนสมรสแล้วหลับนอนกันคืนแรกคืนเดียวต่อๆ มายิ่งนานก็ยิ่งแสดงออกว่าหมดความรักใคร่ต่อกันยิ่งขึ้น และมิได้ส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์มาเป็นเวลากว่าปีแล้ว ถือว่ามีเหตุสมควรที่จะให้หย่ากันได้

ย่อยาว

คดีได้ความว่าโจทก์จำเลยได้เสียกันก่อนภายหลังจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองลำพูนจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2495 แล้วอยู่ร่วมกันที่บ้านบิดามารดาโจทก์ในอำเภอเมืองลำพูน 1 คืน รุ่งขึ้นจำเลยก็ไปอยู่ตำบลวังฝาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพราะได้รับราชการเป็นครูประชาบาลโรงเรียนบ้านกลางทุ่ง ตำบลวังฝาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน นับแต่นั้นมามิได้อยู่ร่วมกันอีก

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสละละทิ้ง มิได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูประพฤติชั่วร้ายแรงด้วยการเป็นนักเลงเจ้าชู้สู่สาวจดหมายเสียดสีท้าทายขอหย่าร้างกับโจทก์ เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรง โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างยิ่งไม่อาจอยู่กินเป็นสามีภรรยาต่อไปได้จึงขอหย่าและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 200 บาท หรือเรียกเป็นเงินก้อนครั้งเดียว 3,000 บาท

จำเลยต่อสู้ว่าเมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วบิดาโจทก์พูดบังคับให้จำเลยหาเงินมาสำหรับแต่งงาน 3,000 บาท จึงจะยอมให้อยู่กินด้วยกันจำเลยชวนโจทก์ไปอยู่ด้วยโจทก์ก็ไม่ยอมไป วันที่ 28 เมษายน 2497จำเลยกับพวกไปรับโจทก์อีก โจทก์กลับเรียกเงิน 6,000 บาท จึงจะไปอยู่ด้วย จำเลยไม่มีให้ จำเลยมิได้จงใจละทิ้งโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะเป็นความผิดของโจทก์เองขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยเป็นสามีเป็นผู้เลือกภูมิลำเนาโจทก์ต้องเป็นฝ่ายติดตามไปอยู่ด้วย เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วบิดาโจทก์กีดกันและไม่จัดแจงให้โจทก์ไปอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับโจทก์โดยเกี่ยวเรียกเอาเงิน เมื่อโจทก์ไปไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ภรรยา จะถือว่าจำเลยละทิ้งไม่ส่งเสียเงินทองเลี้ยงดูอันจะเป็นเหตุให้หย่าร้างหาได้ไม่ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ว่าระหว่างที่จำเลยไม่ไปมาหาสู่โจทก์นี้จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์หลายฉบับขอถอนทะเบียนสมรส โจทก์ฉีกทิ้งเสียบ้างคงเก็บไว้และส่งอ้างเป็นพยาน 2 ฉบับ จดหมายของจำเลยทั้ง 2 ฉบับเป็นหนังสือท้าชวนถอนทะเบียนสมรส ทั้งในเดือนเมษายน2497 (หลังจดทะเบียนสมรสมา 16 เดือนเศษ) จำเลยกับพวกไปหาโจทก์บิดาโจทก์ขอทะเบียนสมรสอีกสองสามครั้ง บิดาโจทก์เกี่ยวเรียกเงิน 3,000 บาท จึงจะให้ถอนหรือจะให้โจทก์ไปอยู่กินด้วยก็เรียกเงินไว้ 6,000 บาทเป็นค่าป้องกันลูก เพราะเกรงจะถูกกลั่นแกล้งให้ได้ลำบากในภายหลัง ในเมื่อระหองระแหงกันแล้วเช่นนี้

ฝ่ายจำเลยนำสืบไม่สมตามข้อต่อสู้ที่ว่าไปวอนรับโจทก์ ๆ ไม่ยอมมาอยู่ด้วย เพราะขัดกับหนังสือท้าชวนถอนทะเบียนเรื่อย ๆ มาจึงเชื่อว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูเป็นเวลากว่า 1 ปี กรณีต้องด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1500(3) โจทก์ฟ้องหย่าได้ แต่การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูมาด้วยนั้นเห็นว่าโจทก์เป็นบุตรคนเดียวและอยู่กินกับบิดามารดาซึ่งมีไร่นามาตั้งแต่ก่อนได้เสียกันกับจำเลยการหย่ากันครั้งนี้ไม่ปรากฎว่าโจทก์จะยากจนลงกว่าเมื่อระหว่างสมรส ฐานะของจำเลยก็เพียงเป็นครูจัตวาได้เงินเดือนรวมเดือนละ 500 บาทเท่านั้น ยังไม่ควรต้องให้จำเลยรับผิด พิพากษากลับให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันได้และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

จำเลยฎีกาต่อมาแต่ฝ่ายเดียว

ศาลฎีกาพิพากษาว่าตามหนังสือฉบับหมาย 1, 2 ที่จำเลยมีถึงโจทก์นั้น แสดงออกชัดว่ามีการระหองระแหงกัน จำเลยบอกใบ้ทำนองจะมีภรรยาใหม่รบเร้าให้เพิกถอนทะเบียนสมรส และจำเลยก็มิได้แก้ให้เห็นเหตุเป็นอย่างอื่นดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยออกความเห็นมาจดทะเบียนสมรสแล้วหลับนอกกันคืนแรกคืนเดียว ต่อ ๆ มายิ่งนานก็ยิ่งแสดงออกว่าหมดความรักใคร่ต่อกันยิ่งขึ้น และมิได้ส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์มาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว มีเหตุสมควรที่จะให้หย่ากันได้ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จึงพิพากษายืนให้ใช้ค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์ 50 บาท

Share