คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16083/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ประสงค์จะปลูกต้นสนไว้เพื่อขายจึงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการหาต้นสนมาปลูกและดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอก
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ศาลฎีกาพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 356 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องทั้งสามสำนวนแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมโทษจำคุก 3 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์ทั้งสามนำสืบในทำนองเดียวกันว่าปี 2533 โจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ที่ดินตั้งอยู่ที่อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์จำเลยเป็นผู้จัดการซื้อที่ดินและปลูกต้นสน โจทก์ทั้งสามโอนเงินค่าปลูกต้นสนให้ภริยาจำเลยเดือนกุมภาพันธ์ 2541 จำเลยนัดโจทก์ทั้งสามกับกลุ่มผู้ซื้อที่ดินมาพบ โจทก์ทั้งสามทราบว่าต้นสนถูกตัด จำเลยนำสืบว่า ต้นสนได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ ปี 2538 กลุ่มเจ้าของตกลงให้ตัดต้นสน จำเลยติดต่อบุคคลอื่นมาซื้อต้นสน บุคคลนั้นชำระเงิน 148,000 บาท และค้างชำระ 35,000 บาท เห็นว่า โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยรับว่าจะช่วยจัดหาซื้อที่ดินและจัดการปลูกต้นสนรวมทั้งเรื่องดูแลต้นสน โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่ 1ทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนถึงเดือนสิงหาคม 2538 จึงเดินทางกลับมาประเทศไทยปี 2540 โจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยพาไปดูต้นสน แต่จำเลยบอกว่าไม่ว่าง โจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ปี 2535 จำเลยพาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินแต่ไม่สามารถทราบตำแหน่งที่แน่นอนว่าอยู่ตรงจุดใด หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ไปดูที่ดินอีกเลย กลางปี 2543 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปดูที่ดินและโจทก์ที่ 3 ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ที่ 3 พักอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ดังนี้ ความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำต้องเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้อื่น แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดเจนว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ครอบครองที่ดินและต้นสน ทั้งไม่ทราบแน่นอนว่าต้นสนอยู่ในที่ดินตำแหน่งใด จำเลยเป็นผู้จัดการดูแลต้นสน ต้นสนของโจทก์ทั้งสามอยู่ในความครอบครองของจำเลย การที่จำเลยตัดต้นสนโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ หรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม และจำเลยรับเงินค่าต้นสนทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ของตนเองไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้นสน แต่เป็นความผิดฐานยักยอก ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 356 บัญญัติว่า เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ทั้งสามทราบว่าต้นสนถูกตัดเดือนกุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้วันที่ 30 มกราคม 2544 โดยมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า การกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ยักยอก มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอก เป็นความผิดอันยอมความได้ คดีโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share