แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ให้สิทธิแก่ฝ่ายลูกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ฝ่ายนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกวงแชร์ การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาทซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 6 จึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 โจทก์จำเลยและบุคคลภายนอกอีกหลายคนร่วมกันเล่นแชร์จำนวน 24 หุ้น หุ้นละ 20,000 บาท โดยโจทก์เป็นนายวงแชร์จำเลยเป็นลูกวงแชร์ถือ 1 หุ้น กำหนดประมูลแชร์ทุกวันที่ 5 ของเดือน จำเลยประมูลแชร์ได้ในเดือนที่ 14 โดยให้ราคาประมูล 3,450 บาท จำเลยรับเงินจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วและมีหน้าที่ต้องส่งค่าแชร์อีก 10 เดือน แต่จำเลยชำระให้โจทก์เพียง 3 เดือน อีก 7 เดือนโจทก์ต้องชำระแทนเป็นเงิน 140,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยนำเงินที่โจทก์ออกแทนให้แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินให้โจทก์จำนวน 147,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นรวม 2 วง มีสมาชิกวงแชร์แต่ละวงไม่น้อยกว่า 20 คน มีทุนกองกลางแต่ละวงต่อหนึ่งงวดไม่น้อยกว่า 400,000 บาทแชร์ที่โจทก์จัดให้มีการเล่นดังกล่าวต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 147,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนายวงแชร์ที่จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่าสามแสนบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) ต้องรับโทษตามมาตรา 17 เท่านั้น หาเป็นเหตุให้สัญญาที่สมาชิกวงแชร์กับนายวงแชร์ที่มีต่อกันตกเป็นโมฆะไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 คงมีบทบัญญัติตามมาตรา 7 เท่านั้น ที่ให้สิทธิแก่ฝ่ายลูกวงแชร์ฝ่ายเดียวที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 โดยมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ฝ่ายนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับลูกวงแชร์แต่อย่างใด ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ว่าไม่ประสงค์ที่จะให้นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งเอากับลูกวงแชร์ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 6 ดังนั้น การที่โจทก์เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน