แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาจ้างไว้อย่างต่ำ 1 ปีและไม่เกิน 2 ปีนั้นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างภายในกำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้กำหนดนั้นจึงไม่ใช่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่2155/2524) เมื่อค่าจ้างกำหนดจ่ายกันทุกวันที่ 25 ของเดือนและจำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 1 มีนาคมโดยบอกกล่าวล่วงหน้าวันที่ 31 มกราคมดังนี้ ระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้าจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างในวันที่ 25 มีนาคม แม้จำเลยมีหน้าที่ต้องให้รถยนต์โจทก์ใช้ในการทำงานตามสัญญาจ้างก็ตามแต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานจำเลยมิได้จัดรถยนต์ให้โจทก์ก็มิได้ทักท้วงกลับใช้รถยนต์ส่วนตัวโดยให้จำเลยออกค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายอื่นๆเมื่อโจทก์ไปทำงานต่างจังหวัดจำเลยก็จัดหารถยนต์ให้เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญากันใหม่โดยปริยายแล้วโจทก์จะอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาหาได้ไม่ การที่จำเลยเลิกจ้างเมื่อโจทก์ทำงานครบหนึ่งปีนั้นทำให้โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างและไม่มีโอกาสจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 513/2524) เมื่อศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะไม่เป็นธรรมหรือไม่ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเหตุใดจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเป็นการเลิกจ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน และจำเลยสัญญาว่าจะจัดหารถยนต์ให้โจทก์ใช้ในการทำงานรวมทั้งเป็นผู้ออกค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำเลยจะประกันชีวิตให้โจทก์และโจทก์มีสิทธิเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ วันที่ 31 มกราคม 2527 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งให้มีผลแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่จัดหารถยนต์ให้โจทก์ ไม่ประกันชีวิตให้โจทก์ ไม่ส่งโจทก์ไปดูงานต่างประเทศจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย นอกจากนี้โจทก์มีสิทธิลาหยุดพักร้อน 10 วันแต่มิได้ลาหยุด จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างแทนขอให้ศาลพิพากาาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่างหน้า ค่าเสียหายเนื่องจากไม่จัดหารถยนต์ให้ ไม่ประกันชีวิตให้ไม่ส่งโจทก์ไปดูงานต่างประเทศ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์กำหนดระยะเวลาอย่างต่ำ 1 ปีและอย่างสูง 2 ปีจึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและจำเลยได้บอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วสาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ไม่ขยันทำงาน ไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ ปล่อยให้งานล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายโจทก์จำเลยตกลงกันว่าโจทก์จะใช้รถยนต์ส่วนตัวโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกจำเลยจะประกันชีวิตให้เมื่อผลงานโจทก์เป็นที่พอใจ เมื่อผลงานไม่เป็นที่พอใจจึงไม่ประักนชีวิตให้โจทก์ จำเลยไม่เคยสัญญาว่าจะส่งโจทก์ไปดูงานต่างประเทศ โจทก์ทำงานเพียง 1 ปี ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล้วงหน้า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากไม่จัดหารถยนต์ให้โจทก์และไม่จัดส่งโจทก์ไปดูลานต่างประทศ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการประกันชีวิต จำเลยผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากไม่ประกันชีวิตให้โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น หมายถึงสัญญาจ้างซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าจะจ้างกันกี่วันกี่เดือนหรือกี่ปี เมื่อถึงกำหนดระยะเวลานั้นแล้วการจ้างเป็นอันระงับหรือสิ้นสุดกันทันที และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้นได้ไม่ ตามสัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าอย่างต่ำ 1 ปีและไม่เกิน 2 ปีนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เมื่อใดก็ได้ในระหว่างตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปถึง 2 ปี กำหนดดังกล่าวจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาการจ้าง ไม่ใช่กำหนดระะยเวลาการจ้างที่แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2155/2524 นายสุนทร กะวะระสูตร โจทก์ บริษัทสหกลเอนยิเนียริ่ง จำกัด กับพวก จำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดตามประกาศฯ ดังกล่าว ข้อ 47 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 ค่าชดเชยนั้นโจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นมาตรา 582 วรรคแรก กำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2527 และค่าจ้างกำหนดจ่ายกันทุกวันที่ 25 ของเดือนฉะนั้น ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างในวันที่ 25 มีนาคม 2527 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2527 กำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจึงไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนสำหรับเวลาที่ยังขาด24 วันแก่โจทก์
แม้ตามสัญญาจ้างจำเลยมีหน้าที่ต้องจัดหารถยนต์ให้โจทก์ใช้ทำงานก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลย จำเลยมิได้จัดหารถยนต์ให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่เคยว่ากล่าาวหรือทักท้วง โจทก์กลับใช้รถยนต์ส่วนตัวของโจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าน้ำมันค่าซ่อมแซมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ กรณีที่โจทก์ออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด จำเลยก็จัดหารถยนต์ให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากันใหม่โดยปริยาย โจทก์จะอ้างว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาหาได้ไม่
สำหรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 วรรคแรก ที่กำหนดว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน ฯลฯ” นั้น เป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างซึ่งทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิ?ี่จะหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่ใช่เป็นการกำหนดการใช้สิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้างกรณีที่ถูกเลิกจ้างได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 ต่อเมื่อลูกจ้างมีสิทธิที่จะใช้สิทธิของตนแล้วเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทำงานครบหนึ่งปี จำเลยก็เลิกจ้างโจทก์ซึ่งทำให้โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง โจทก์ไม่มีโอกาสที่จะใช้สิทะิของตนเองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามนัยคำพิพากษาาฎีกาที่ 513/2524นายสุนทร รัตนเกื้อกังวาน โจทก์ บริษัทลักซ์โซ่ (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
ส่วนค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นปรากฏว่าศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด ฉะนั้น จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่
และวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์ว่าจะประกันชีวิตให้โจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญา ย่อมเห็นความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่ในตัวว่า โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองแก่ชีวิตและร่างกายหากเกิดได้รับอันตรายในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของจำเลย นอกจากนี้นายสมศักดิ์ พยานร่วม ก็ได้เบิกความถึงผลดีหรือประโยชน์ของการประกันชีวิตไว้แล้ว ถือว่ามีข้อเท็จจริงในสำนวน จำเลยจะโต้เถียงว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีโดยปราศจากข้อเท็จจริงหาได้ไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้รับอันตรายในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีที่ผิดสัญญาจ้างให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่างล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุใด แล้วพิจารณาพิพากษาปัญหาข้อนี้ใหม่ นอกจากที่แก้และที่ยกนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง