คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1603/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎกระทรวงฉบับที่ 173 (พ.ศ.2530) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้กำหนดเงินได้ของชาวไร่อ้อยตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายที่ได้รับจากการขายอ้อยอันเกิดจากกสิกรรมที่ตนเองและหรือครอบครัวได้ทำเอง เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา42 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ขายให้แก่โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 ถึงวันที่ 30 กันยายนพ.ศ. 2530 ซึ่งมีผลให้จำนวนเงินที่ได้จากการขายอ้อยดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้นเอง
การที่จะพิจารณาว่าเงินได้ของชาวไร่อ้อยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของรายได้เป็นสำคัญ กล่าวคือถ้าเป็นเงินได้ที่ได้จากการขายอ้อยให้แก่โรงงานตามวันเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ก็ย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินดังกล่าวมาในเวลาใด
การคืนเงินภาษีอากร มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 (3) ก็มีข้อความชัดเจนว่า กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินหรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือคืนเงินภาษีการค้าที่ชำระสำหรับสินค้าที่นำเข้าในหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันชำระภาษีอากร การที่ศาลภาษี-อากรกลางให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระดอกเบี้ยจากจำนวนเงินภาษีที่จะต้องคืนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้าน จึงนับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 มากแล้ว

Share