แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยให้ลงโทษบทหนักฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 มีโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายมีโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 15 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องเป็นให้ลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 โดยไม่ได้แก้ไขบทความผิดและกำหนดโทษกับลดโทษให้จำเลยอีกกระทงละหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน อันถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร พิพากษาแก้เฉพาะโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้จำคุกไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธและปรักปรำจำเลย กับขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลย เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 277, 279, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 279 วรรคสอง, 317 วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี กับลงโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยให้ลงโทษบทหนักฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 มีโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายมีโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 15 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงพิพากษาแก้ให้ถูกต้องเป็นให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 โดยไม่ได้แก้ไขบทความผิดและกำหนดโทษ กับลดโทษให้จำเลยอีกกระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน อันถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธและปรักปรำจำเลย กับขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลย เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้โดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลย