แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามร่วมกันไปกระทำผิดโดยจำเลยที่ 2 เข้าทำร้าย บ. ซึ่งอยู่ที่บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วร่วมกันฆ่า ส.กับ ธ. และทำร้าย ป. ได้รับอันตรายแก่กาย แล้วได้รื้อค้นหาทรัพย์ที่โต๊ะของผู้เสียหายเนื่องจากประสงค์ต่อทรัพย์ แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้เนื่องจาก ป. ได้หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุและร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านทันท่วงที ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายด้วยกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีและใช้มีดและปืนเป็นอาวุธเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นอีกบทหนึ่งด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340วรรคห้า,80 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 2มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6),83 อีกบทหนึ่งด้วย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทฟ้องลงโทษตามมาตรา 289อันเป็นบทหนักซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นแต่อย่างใดและเมื่อศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังนี้ ศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักไปกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ได้.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา289(5) (6), 340, 340 ตรี, 371, 91, 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบมีดพกปลายแหลมของกลาง ส่วนของกลางนอกนั้นให้คืนเจ้าของ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า, 80 แม้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืน ส่วนจำเลยที่ 3 ใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิดก็ไม่อาจเพิ่มโทษตามมาตรา 340 ตรี ได้อีก เพราะต้องห้ามตามมาตรา 51 และมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคห้า, 80 และฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้มาตรา 340วรรคห้า, 80 ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิตสำหรับจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และจำเลยที่ 3 ยังมีความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8ทวิ, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 อีกกระทงหนึ่งด้วยแต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ใช้มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักลงโทษโดยให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78ลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง เฉพาะในความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคงให้จำคุก 6 เดือน สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 หนึ่งในสาม คงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในความผิดฐานนี้ ให้จำคุกตลอดชีวิต สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลให้จำคุกตลอดชีวิตซึ่งเป็นอัตราโทษจำคุกสูงสุดแล้วไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 3 ได้อีกจึงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตตามความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่นเพียงสถานเดียว ให้ริบอาวุธมีดพกปลายแหลม ส่วนของกลางอื่นให้คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสุดท้าย ประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 340 ตรี, 289(6) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…..พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักและหลักฐานมั่นคง พยานจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายและร่วมกันฆ่าเด็กชายสุวิทย์และนายธีระ รายละเอียดบาดแผลของผู้ตายปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.43และ จ.44 ตามลำดับ และร่วมกันทำร้ายนางสาวบังอรได้รับบาดเจ็ดสาหัสตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.47 ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วยหรือไม่ โจทก์มีนางสาวบังอร ศรีแนนเบิกความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุขณะที่พยานกำลังนั่งยองๆ หั่นผักเพื่อต้มอาหารให้สุกรอยู่บริเวณหลังบ้านก็ได้ยินเสียงคนเดินมาทางบริเวณข้างบ้าน พยานหันหน้าไปมองเห็นหน้าชัดเจนเป็นชายซึ่งพยานไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ที่ 3ซึ่งเข้าไปนั่งรอนายสายันต์ในบ้าน ในตอนแรกชายคนดังกล่าวใช้อาวุธอะไรไม่ทราบตีพยานที่บริเวณคางด้านซ้ายอย่างแรงจนหมดสติไปทันที พยานจำหน้าชายคนนั้นได้คือจำเลยที่ 2พยานชี้ตัวจำเลยที่ 2 ในห้องพิจารณา และได้ความจากคำเบิกความของนางสาวรำพึง แป้นทะเล พยานโจทก์ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้เคียงบริเวณบ้านที่เกิดเหตุว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกาขณะที่พยานเดินกลับบ้าน ยังไม่ถึงบ้านที่เกิดเหตุ พยานเห็นชายคนหนึ่งวิ่งมาจากบ้านที่เกิดเหตุ เห็นครั้งแรกห่างกันประมาณ 6 เมตร เสื้อของชายคนนั้นมีรอยเปื้อนเลือด พอชายคนดังกล่าวเห็นพยาน ชายคนนั้นก็หลบไปแอบในพุ่มไม้ข้างทางแล้วชะเง้อดูพยาน ซึ่งพยานก็ได้ดูตอบแล้วเดินผ่านไป เมื่อถึงบ้านที่เกิดเหตุเห็นมีคนมุงดูอยู่มากมาย และโจทก์ยังมีนางสาวสมส่วน ชุ่มศรี พนักงานเก็บค่าโดยสารรถยนต์ประจำทางสายราชสีมา-โนนสูง เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลา 13-14นาฬิกา พยานพบจำเลยที่ 2 นั่งอยู่บนรถยนต์โดยสารโดยมีรอยเปื้อนเลือดที่ใบหน้าและเสื้อผ้า นางสมส่วนถามว่าหน้าเป็นอะไรจึงเปื้อนเลือด จำเลยที่ 2 บอกว่าถูกปล้นมาจากปากช่อง ข้อนี้จำเลยที่ 2 นำสืบว่า ในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2529จำเลยที่ 2 ถูกคนร้ายทำร้ายร่างกายและแย่งกระเป๋าเดินทางที่อำเภอปากช่องตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ได้ขอเงินจากชาวบ้านเป็นค่าโดยสารรถเดินทางเข้าจังหวัดนครราชสีมา ตั้งใจจะไปหาเพื่อนชื่อนายชรินทร์ที่ตำบลจันอัด อำเภอโนนสูงเห็นว่าจำเลยที่ 2 เบิกความลอยๆ ไม่มีพยานสนับสนุนว่าจำเลยที่ 2 ถูกคนร้ายชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกาย เมื่อพลตำรวจสุรินทร์จิตต์ดำรงค์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา นำตัวจำเลยที่ 2 ไปมอบให้ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสูงในวันที่ 3 พฤศจิกายน2529 และส่งวิทยุถามไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากช่องตามที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ปรากฏว่าไม่มีเหตุชิงทรัพย์เกิดขึ้นแต่อย่างใด จากนั้นพลตำรวจสุรินทร์ก็ติดต่อไปยังศูนย์วิทยุสุรนารีจึงได้รับแจ้งว่ามีคนร้ายชื่อนายมนตรี แกล้วกล้า (จำเลยที่ 2) หรือไม่ พลตำรวจสุรินทร์บอกว่ามี ทางศูนย์ ฯ จึงบอกให้ควบคุมตัวจำเลยที่ 2 ไว้ก่อน ต่อมาเวลา 8 นาฬิกาวันเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมามารับตัวจำเลยที่ 2 ไป เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารับตัวบอกว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ที่หมู่บ้านโนนฝรั่ง เห็นว่า เหตุเกิดเวลา 12 นาฬิกาเศษ นางสาวบังอรประจักษ์พยานโจทก์มีโอกาสได้ยินเสียงคนเดินมาทางบริเวณข้างบ้านก่อนที่พยานจะถูกคนร้ายใช้อาวุธตี นางสาวบังอรหันหน้าไปดูคนร้ายเห็นชัดเจน แม้จะเห็นเพียงครู่หนึ่งก็น่าเชื่อว่านางสาวบังอรจำคนร้ายนั้นได้ว่าเป็นจำเลยที่ 2หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว นางสาวบังอรได้มาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529 ว่าจำคนร้ายได้ทั้งสามและได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณของจำเลยที่ 2 ไว้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.23 ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 พนักงานสอบสวนได้จัดให้นางสาวบังอรชี้ตัวจำเลยที่ 2 ที่ใต้ถุนศาลจังหวัดนครราชสีมา ปรากฏว่านางสาวบังอรชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องปรากฏตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.24 ภาพล่าง และบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.26เช่นนี้แสดงว่านางสาวบังอรเห็นและจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 2 จึงสามารถชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้อง ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อนเกิดเหตุ ส่วนนางสาวรำพึงพยานโจทก์ก็เห็นจำเลยที่ 2 วิ่งจากบ้านเกิดเหตุในระยะกระชั้นชิดกับเหตุที่เกิดขึ้นสดๆ และเชื่อว่าพยานปากนี้สนใจจดจำหน้าตาของจำเลยที่ 2 ได้เพราะเป็นเวลากลางวัน และตามเสื้อผ้าที่จำเลยที่ 2 สวมใส่อยู่มีรอยเปื้อนเลือดซึ่งเป็นการผิดปกติธรรมดาของคนทั่วไปทั้งต่อมา เมื่อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้แล้ว ก็ปรากฏว่าเสื้อผ่าที่จำเลยที่ 2 สวมใส่อยู่มีรอยเปื้อนเลือดจริง เมื่อพนักงานสอบสวนจัดให้นางสาวรำพึงชี้ตัวจำเลยที่ 2 ก็ปรากฏว่านางสาวรำพึงตรงเข้าชี้ตัวจำเลยที่ 2 และยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่วิ่งตรงมาทางตน พร้อมกับแสดงกิริยาชะงักและพยายามแอบซ่อนตัวเข้าไปในพุ่มไม้ ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.30 สำหรับนางสาวสมส่วนพยานโจทก์ก็สามารถชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องและยืนยันว่าเป็นผู้ที่ขึ้นมาบนรถและนอนอยู่ที่เบาะหลังสุดท้ายโดยเสื้อกางเกงเปื้อนเลือดที่แห้งใหม่ๆ และที่ระหว่างปากกับจมูกยังมีเลือดไหลอยู่เล็กน้อย ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.29 พยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวต่างก็ไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุน่าระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 2 น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง พยานโจทก์มีน้ำหนักและหลักฐานมั่นคง พยานจำเลยที่ 2ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ คดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เข้าความผิดสถานใดบ้าง เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันไปกระทำผิดโดยจำเลยที่ 2 เข้าทำร้ายนางสาวบังอรซึ่งอยู่ที่บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุได้รับอันตรายสาหัส และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วร่วมกันฆ่าเด็กชายสุวิทย์กับนายธีระ และทำร้ายนางสาวปียวันได้รับอันตรายแก่กาย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากจำเลยทั้งสามประสงค์ต่อทรัพย์เพราะได้มีการรื้อค้นหาทรัพย์ที่โต๊ะของผู้เสียหาย แต่จำเลยทั้งสามไม่สามารถเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้เนื่องจากนางสาวปียวันได้หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุและร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านทันท่วงที กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันพยายามกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกันฆ่าผู้อื่นและทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายด้วยกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กรณีก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3ฉะนั้นจำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีและใช้มีดและปืนเป็นอาวุธเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นอีกบทหนึ่งด้วยฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้นฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่3 มีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339วรรคสุดท้ายประกอบด้วยมาตรา 80 และมาตรา 340 ตรี นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1และที่ 3 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นทุกข้อ แต่ถึงอย่างไรก็ดีแม้จำเลยที่ 2 จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6), 83 ซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว แต่เนื่องจากคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยให้จำคุกตลอดชีวิต โจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นแต่อย่างใด และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ก็ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นศาลฎีกาย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักไปกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 ได้’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย มาตรา 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 80 ผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298, 83 และผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298(6), 83 อีกบทหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 298(6), 83 ซึ่งเป็นบทหนักกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 สำหรับโทษที่ลงแก่จำเลยที่ 2 นั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.