คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของลูกจ้างที่กล่าวว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ โดยไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าทั้งยังไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายนั้นเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ด้วย เมื่อนายจ้างและลูกจ้างประนีประนอมยอมความกัน โดยลูกจ้างยอมรับค่าชดเชย ค่าครองชีพและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและตกลงยอมสละข้ออ้างและคำขออื่นทั้งหมด จะไม่รื้อร้องฟ้องคดีเกี่ยวกับมูลความเดียวกันนั้นอีก จึงเป็นการตกลงระงับสิทธิของลูกจ้าง ที่จะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์เลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย จากการกระทำอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวอีก
แม้ลูกจ้างจะนำคดีเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมมาฟ้องยัง ศาลแรงงานกลางก่อนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นการ ข้ามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 และขัดกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานกลาง พิพากษาตามยอมและไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุดคำพิพากษาตามยอม ย่อมมีผลบังคับและผูกพันคู่ความ
คำฟ้องของลูกจ้างที่กล่าวว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การคำนวณค่าชดเชยไม่ถูกต้องและไม่ยอมจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการฟ้องบังคับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอันเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง โดยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแม้ลูกจ้างจะยอมความกับนายจ้างโดยไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกันอีก ก็หมายถึงค่าเสียหายที่เรียกร้องกันได้ในคดีดังกล่าวเท่านั้นหาหมายความถึงค่าเสียหายในกรณีเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2524นางปลิว เนื้อทองเอม กับพวกรวม 8 คนผู้กล่าวหา ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าถูกโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุที่ผู้กล่าวหาลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องและเป็นการเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ ต่อมาจำเลยทั้ง 11 คนได้มีคำสั่งที่ 113/2524 ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนางปลิว เนื้อทองเอมกับพวกเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้โจทก์ใช่ค่าเสียหายแก่นางปลิวเนื้อทองเอมกับพวกรวม 8 คนเป็นเงิน 20,000 บาท คำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง กล่าวคือการที่จำเลยจะชี้ขาดตามคำสั่งของผู้กล่าวหานั้น ผู้กล่าวหาทั้ง 8 คนกับผู้อื่นได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง โดยนางปลิว เนื้อทองเอม นางบุญยิ่ง เกิดสังข์ และนางวิมลคุ้มเณร เป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 26 ในคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2524 ของศาลแรงงานกลาง นางมนัส ปิ๋วเจริญ นางสมพร สุวรรณเวช นางอุบล เย็นทิพย์นายจำนงค์ นิลอ่อนและนางพล พงษ์กายี เป็นโจทก์ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 11ในคดีหมายเลขแดงที่ 2424/2524 ของศาลแรงงานกลาง คดีดังกล่าวได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้กล่าวหาทั้ง 8 คน ขอรับเงินตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความ และยอมสละข้ออ้างและคำขออื่นทั้งหมด จะไม่รื้อร้องฟ้องคดีใด ๆ ต่อไป ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้ผู้กล่าวหาทั้ง 8 คนหมดสิทธิที่จะเรียกร้องใด ๆ อันเนื่องมาจากการเลิกจ้างของโจทก์อีกนอกจากนั้นการที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้ง 8 คนเนื่องมาจากงานผลิตเสาคอนกรีตอัดแรงของโจทก์น้อยลง ทำให้คนงานมีมากกว่าปริมาณงานโจทก์จำเป็นต้องเลิกจ้างบางส่วนเพื่อความอยู่รอดของบริษัทโจทก์ โจทก์มิได้เลิกจ้างลูกจ้างผู้กล่าวหาทั้ง 8 คน เพราะเหตุที่ได้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องแต่ประการใด ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 113/2524

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องของนางปลิว เนื้อทองเอม กับพวกรวม 8 คนจนมีคำสั่งที่ 113/2524จริง แต่จำเลยที่ 11 เป็นกรมในรัฐบาลมิได้เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 11 โจทก์ได้เลิกจ้างนางปลิว เนื้อทองเอมกับพวกรวม 8 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับโดยที่ลูกจ้างมิได้กระทำความผิดดังที่ระบุไว้ในมาตรา 123แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ทั้งโจทก์ไม่มีเหตุผลและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 8 คน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเลยที่ 1ถึงที่ 10 มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างเพราะนางปลิว เนื้อทองเอม กับพวกรวม8 คน ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด สำหรับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลแรงงานกลางนั้น นางสมพร สุวรรณเวชนางมนัส ปิ๋วเจริญ นางพล พงษ์กายี นางอุบล เย็นทิพย์ และนายจำนงค์นิลอ่อน ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2424/2524 หลังจากที่บุคคลทั้งห้าได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แล้วจึงไม่ตัดสิทธิบุคคลทั้งห้าที่ร้องเรียนไว้ก่อนแล้ว ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนางปลิว เนื้อทองเอม นางบุญยิ่งเกิดสังข์ และนางวิมล คุ้มเณร ทำกับโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2524เป็นเรื่องที่นางปลิว เนื้อทองเอม กับพวกขอรับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน ไม่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จึงไม่ตัดสิทธิของบุคคลทั้งสองที่ได้ร้องเรียนขอค่าเสียหายเนื่องจากถูกออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม และฝ่าฝืนกฎหมายต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไว้ก่อนฟ้องคดีนั้นแล้ว คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 113/2524 ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 11 มิได้เกี่ยวข้องกับคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 11 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนางปลิว เนื้อทองเอม กับพวกเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ซึ่งห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ หาได้ชี้ขาดว่าโจทก์เลิกจ้างนางปลิวกับพวกเพราะเหตุที่ยื่นข้อเรียกร้องดังโจทก์อ้างไม่ การที่นางปลิวกับพวกรวม 8 คนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2524 และคดีหมายเลขแดงที่ 2424/2524 ของศาลแรงงานกลาง เป็นการสละข้อเรียกร้องอันเกิดแต่การถูกโจทก์เลิกจ้างทั้งหมด คงยอมรับเฉพาะเงินที่โจทก์ยอมจ่ายให้สิทธิในการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลเลิกจ้างได้ระงับไปแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นางปลิวกับพวกอีกเป็นการไม่ชอบพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 113/2524ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2524 ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 11

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า นางมนัส ปิ๋วเจริญนางสมพร สุวรรณเวช นางอุบล เย็นทิพย์ นายจำนงค์ นิลอ่อน และนางพลพงษ์กายี รวม 5 คน ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 2424/2524 ต่อศาลแรงงานกลางใจความว่า โจทก์เลิกจ้างนางมนัสกับพวกในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ โดยนางมนัสกับพวกไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าทั้งยังไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหาย ดังนี้ เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123 ด้วย เมื่อโจทก์และนางมนัสกับพวกรวม 5 คนประนีประนอมยอมความกัน โดยนางมนัสกับพวกยอมรับค่าชดเชย ค่าครองชีพ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและตกลงยอมสละข้ออ้างและคำขออื่นทั้งหมด จะไม่รื้อร้องฟ้องคดีเกี่ยวกับมูลความผิดเดียวกันนี้อีก จึงเป็นการตกลงระงับสิทธิของนางมนัสกับพวกที่จะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์เลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไปแล้ว นางมนัสกับพวกจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมดังกล่าวอีกที่จำเลยอ้างว่านางมนัสกับพวกได้นำคดีเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมมาฟ้องยังศาลแรงงานกลางก่อนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นการข้ามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124กำหนดไว้จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องยังศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคท้ายคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีผลใช้บังคับนั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์จนคดีถึงที่สุด คำพิพากษาย่อมมีผลบังคับและผูกพันคู่ความ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่นางมนัส นางสมพร นางอุบล นายจำนงค์ และนางพลผู้กล่าวหาอีกเป็นการไม่ชอบ ในกรณีเกี่ยวกับนางมนัสกับพวกรวม5 คนดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 113/2524 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2524 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนนางปลิว เนื้อทองเอม นางบุญยิ่ง เกิดสังข์ และนางวิมล คุ้มเณรรวม 3 คน ฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2524 ต่อศาลแรงงานกลางใจความว่า โจทก์เลิกจ้างนางปลิวกับพวกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การคำนวณจ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องและไม่ยอมจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การคำนวณจ่ายค่าชดเชยไม่ถูกต้องและไม่ยอมจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนี้ เป็นการฟ้องบังคับตามสิทธิในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่นางปลิวกับพวกมีสิทธิจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างโดยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ซึ่งนางปลิวกับพวกได้ยื่นคำร้องไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 อีกส่วนหนึ่งแล้ว การที่นางปลิวกับพวกรวม 3 คนประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยนางปลิวกับพวกตกลงยอมรับเงินจำนวนหนึ่งแล้วตกลงว่าต่างไม่ติดใจเรียกร้องอะไรต่อกันอีก จึงหมายถึงค่าเสียหายที่เรียกร้องกันได้ในคดีนี้ หาหมายความรวมถึงค่าเสียหายในกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมด้วยไม่ การที่นางปลิว นางบุญยิ่งและนางวิมลทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันกับโจทก์ และศาลพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 2759/2524 ของศาลแรงงานกลาง จึงไม่ทำให้สิทธิของนางปลิว นางบุญยิ่งและนางวิมลที่จะได้รับค่าเสียหายเนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างโดยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมระงับไป คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่นางปลิว นางบุญยิ่ง และนางวิมลผู้กล่าวหาจึงเป็นการชอบ ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกี่ยวกับนางปลิว นางบุญยิ่ง และนางวิมลเสียด้วย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่าไม่เพิกถอน คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 113/2524 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2524 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับนางปลิวเนื้อทองเอม นางบุญยิ่ง เกิดสังข์ และนางวิมล คุ้มเณร ผู้กล่าวหา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share