คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างเป็นเจ้าของที่พิพาทฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าเพราะเหตุสัญญาเช่าครบกำหนดเวลา. จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง. หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและโจทก์ไม่มีสิทธิอื่นใดในที่พิพาท. โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย.(อ้างฎีกาที่ 948/2501).
เมื่อศาลชั้นต้นงดสืบพยานในประเด็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่. ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามให้พิจารณาพิพากษาใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง จำเลยทำสัญญาเช่า1 ปี ครบกำหนดแล้ว โจทก์บอกให้ออกไป จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่ จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ความจริงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสัญญาเช่าเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นายสมภพ แสงอรุณ ในฐานะนายอำเภอและประธานกรรมการสุขาภิบาลท่ามะกายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในอำนาจดูแลคุ้มครองของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องไม่ฎีกา คดีเฉพาะตัวผู้ร้องเป็นอันยุติ คดีระหว่างโจทก์จำเลย ศาลชั้นต้นได้ไปเผชิญสืบตรวจดูที่พิพาทแล้วสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า จำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ และได้รับประโยชน์จากทรัพย์ที่เช่าตลอดมา จะอ้างว่าทรัพย์ที่เช่าไม่ใช่ของโจทก์ไม่ได้ ถึงหากที่พิพาทจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็ไม่ทำให้สัญญาเช่าขาดการบังคับ เพราะผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าไม่ เมื่อสัญญาเช่าระงับ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยได้ พิพากษาให้ขับไล่จำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแต่จำเลยต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคดียังมีปัญหาที่โต้เถียงกันอยู่ ถ้าข้อเท็จจริงได้ความว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และโจทก์มิได้มีสิทธิอื่นใดในการให้เช่าที่พิพาทนี้แล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามนัยฎีกาที่ 948/2501 จึงควรให้มีการสืบพยานในข้อนี้ให้ได้ความเสียก่อนเพื่อจะนำไปสู่ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามที่จำเลยต่อสู้หรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาสองศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่.

Share