คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1594/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บ้านปลูกไว้แล้วและขายฝากแก่โจทก์ จำเลยขอปลูกสร้างบ้านเป็นอุบายเพื่อขอเลขบ้านใหม่ และได้รับเลขบ้านใหม่ไปเป็นการแจ้งความเท็จซึ่งโจทก์อ้างว่าเพื่อยักยอกบ้านที่ขายฝาก การแจ้งความเท็จเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงาน ไม่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่จะฟ้องจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับ มาตา 137 เบียดบังเอาบ้านเลขที่ 486 จำคุก 6 เดือน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 18ตุลาคม 2519 จำเลยได้ยื่นคำร้องหมาย จ.3 ต่อเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครว่าจำเลยขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ณ หมู่ที่ 3 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย พร้อมทั้งยื่นแบบแปลนมากับคำร้องด้วย ต่อมาวันที่ 11พฤศจิกายน 2519 สำนักงานทะเบียนเขตราษฎร์บูรณะได้ให้เลขบ้านแก่จำเลยคือเลขที่ 630 หมู่ที่ 3 ถนนราษฎร์บูรณะ ตามเอกสารหมาย ล.3 ปัญหามีว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานอันโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่

โจทก์มีนายไกรสีห์ บุญอำไพ ผู้ช่วยนายทะเบียนเขตราษฎร์บูรณะ นายสุธินพุทซ้อน และนายอดุลย์ อัครพันธุ์ หัวหน้างานโยธา เขตราษฎร์บูรณะเป็นพยานว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างโรงเรือน พร้อมทั้งยื่นแบบแปลนโรงเรือนที่จะสร้างด้วย นายอดุลย์ อัครพันธุ์ ตรวจเห็นว่าถูกต้องจึงอนุญาตให้ปลูกสร้างได้ตามเอกสารหมาย จ.2 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2519 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน2519 นั้น จำเลยยื่นคำร้องขอเลขบ้านได้เลขที่ 630 ก่อนออกเลขบ้าน นายไกรสีห์ บุญอำไพ ให้นายสุธิน พุทซ้อน ลูกจ้างประจำ แผนกงานโยธา ไปดูว่าบ้านปลูกเสร็จและมีเลขบ้านหรือไม่ นายสุธินไปดูปรากฏว่าบ้านดังกล่าวมีอยู่และเข้าอยู่อาศัยได้ แต่ไม่มีเลขบ้าน ได้รายงานให้นายไกรสีห์ทราบ นายไกรสีห์จึงออกเลขบ้านให้ จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ว่าจำเลยไม่ได้ปลูกสร้างหลังจากเจ้าหน้าที่อนุญาต เพราะบ้านปลูกไว้ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าปลูกบ้านใหม่จึงให้เลขบ้าน 630 มา ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานปลูกสร้างอาคารใหม่นั้นเป็นอุบายที่จำเลยจะขอเลขบ้านใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยขอเลขบ้านวันเดียวกับที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้าง แม้บ้านเดิมจะเป็นของจำเลยดังที่จำเลยต่อสู้ การที่จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานไม่ตรงต่อความจริงที่จำเลยรู้ดีอยู่แล้ว ย่อมเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานแต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงาน มิได้เกี่ยวข้องพาดพิงโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย

สำหรับข้อหาในความผิดฐานยักยอก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายจากนางปทุม อินทะโสภา ให้ดูแลรักษาบ้าน การแจ้งความเท็จของจำเลยก็เพื่อเบียดบังเอาบ้านของโจทก์เป็นประโยชน์ตนหรือกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยทุจริตแต่มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากนางปทุม อินทะโสภา ตามฟ้องคงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เพียงว่า จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านแล้วไม่ยอมออก และตามรูปคดีเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเข้าอยู่ในบ้านเลขที่ 630 หรือ 486 เดิมโดยถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของ หาใช่โดยได้รับมอบหมายจากนางปทุม อินทะโสภา หรือนางปทุม อินทะโสภา ให้ดูแลรักษาบ้านดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องไม่ บ้านดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาในทางแพ่ง จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share