แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกโกรธผู้เสียหาย ที่ไม่ยอมให้จำเลยกับพวกนั่งข้าง ๆ ในรถยนต์โดยสารจึงเกิดการโต้เถียงกัน พวกของจำเลยชกต่อยผู้เสียหายและดึงแว่นตาของผู้เสียหายออกจนหล่น ที่พื้นโดยประสงค์จะแกล้งผู้เสียหาย มิได้มีเจตนาทุจริตคิดที่จะลักแว่นตาผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก เมื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเสร็จแล้วก่อนจะหนีไป จำเลยกับพวกจึงลักเอาแว่นตาและเศษสตางค์ของผู้เสียหายที่หล่น จากกระเป๋าเสื้อไปในภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายกระทงหนึ่ง และความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,92, 339 วรรคสอง, วรรคสาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 และให้จำเลยใช้เงิน 8 บาทคืนแก่ผู้เสียหาย และเพิ่มโทษจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 339 วรรคสอง, วรรคสาม จำคุก 12 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลดจึงไม่เพิ่มไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ให้จำเลยใช้เงิน 8 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 335(7) วรรคแรก) อีกกระทงหนึ่งเรียงกระทงลงโทษ กระทงแรกจำคุก 15 วัน กระทงหลังจำคุก 2 ปีรวมเป็นจำคุก 2 ปี 15 วัน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92อีกหนึ่งในสาม คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความชั้นศาลของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด จึงไม่เพิ่มไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 54 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2532 เวลา 11 นาฬิกาเศษ จำเลยกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจกับร่วมกันลักแว่นตาและเศษสตางค์ 8 บาท ของผู้เสียหาย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายโดยสารรถโดยสารมาตั้งแต่ต้นทาง ส่วนจำเลยกับพวกเพิ่งขึ้นรถโดยสารในระหว่างทาง แสดงว่า จำเลยกับพวกมิได้ติดตามผู้เสียหายมาแต่อย่างใด เมื่อจำเลยกับพวกขึ้นมาแล้วจะไปนั่งข้างผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ยอมให้นั่ง อ้างว่าที่แคบจึงเกิดโต้เถียงกัน พวกของจำเลยได้ดึงแว่นตาของผู้เสียหายออกแต่หล่นที่พื้นรถโดยสาร จำเลยก็เข้าชกต่อยผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายก้มลงเก็บแว่นตาเศษสตางค์ในกระเป๋าเสื้อได้หล่นลงมาจำเลยกับพวกเอาแว่นตาและเศษสตางค์ของผู้เสียหายหลบหนีไปตามพฤติการณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาเชื่อว่า เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยกับพวกนั่งข้าง ๆ จำเลยกับพวกโกรธผู้เสียหายพาลดึงแว่นตาผู้เสียหายออก โดยประสงค์จะแกล้งผู้เสียหายมิได้มีเจตนาทุจริตคิดที่จะลักแว่นตาผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก เมื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเสร็จแล้วก่อนจะหนีไป จำเลยกับพวกจึงลักแว่นตาและเศษสตางค์ของผู้เสียหายไปในภายหลัง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายกระทงหนึ่งและความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.