คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เคยฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 4 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินซึ่ง ท.ภิริยาจำเลยที่ 1 ยกให้โจทก์และจำเลยที่ 4 โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 4 ยอมรับว่าเป็นจริงตามฟ้อง ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาดังกล่าว คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 หากโจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาคดีดังกล่าวก็ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ,208,และ 209 คือขอให้มีการพิจารณาใหม่การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีใหม่ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำพิพากษาคดีก่อนย่อมเป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ในส่วนที่เกี่ยวกันเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นคำฟ้องซึ่งศาลไม่พึงรับไว้พิจารณา
เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาคดีก่อนเสียแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท.โอนใส่ชื่อตนเองกับจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมรดกแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวโอนกลับคืนให้จำเลยที่ 4 ครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ จึงให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนต่างๆเสีย ให้โจทก์กับจำเลยที่ 4 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิตามเดิมนั้นย่อมไม่เป็นคำฟ้องอันพึงรับไว้พิจารณาเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์มีนางสอิ้ง บู๊ประเสริฐมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๑๑ นางทรงนครา (บัว ศศะนาวิน ) ได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๓๒๖๕ ตำบลบางหว้า อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และจำเลยที่ ๔ คนละครึ่ง การยกให้จำเลยที่ ๑ สามีนางทรงนคราได้ให้ความยินยอมแล้ว โจทก์ได้อยู่ร่วมกับนางนคราที่บ้านเลขที่ ๒๕ หมู่ ๘ ถนนเพชรเกษม ตำบลบางหว้า อำเภอภาษีเจริญ ตลอดมาจนนางทรงนคราถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๑๕ จึงไปอยู่กับมารดาที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อนางทรงนคราถึงแก่กรรมแล้วมารดาโจทก์เป็นผู้เก็บค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดินต่อมา ครั้นเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๗ ผู้เช่าไม่ยอมชำระค่าเช่าอ้างว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินอีกต่อไปแล้ว มารดาโจทก์ได้ไปตรวจหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจีงทราบว่าได้มีการเพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินดังกล่าวโดยคำสั่ง(ที่ถูกคำพิพากษา) ศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๕๑๖ และได้โอนใส่ชื่อตนเองกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมรดกของนางนคราแทนและจำเลยที่ ๒ โอนใส่ชื่อตนเองกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมรดกแล้วจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวโอนกลับคืนให้จำเลยที่ ๔ โดยยกให้ครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ เมื่อทราบการเพิกถอนแล้วโจทก์จึงทราบว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ กับโจทก์เป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๔๑๖ อ้างว่านางทรงนคราได้ยกที่ดินให้โจทก์และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดิน เนื่องจากโจทกก์ไม่เคยทราบการฟ้องร้องคดีนั้นจึงไม่มีโอกาสได้เข้าต่อสู้คดี ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการยกให้ที่ดินดังกล่าว การที่ศาลแพ่งพิพากษาเช่นนั้นก็เพราะจำเลยที่ ๑ ใช้เพทุบายฟ้องโจทก์โดยอ้างข้อความอันเป็นเท็จว่าไม่ได้ยินยอมให้นางทรงนาคราทำการโอนที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๔ และร่วมกันปกปิดการฟ้องร้องและการดำเนินกระบวนการพิจารณา ส่งหมายเรียกและคำฟ้องไปให้โจทก์ที่บ้านเลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๘ ตำบลบางหว้า ทั้งๆที่ทราบว่าโจทก์ได้ย้ายไปอยู่กับมารดาโจทก์แล้วการกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ต้องขาดจากการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ ๓๒๖๕ครึ่งหนึ่ง เฉพาะส่วนของโจทก์มีราคา ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าอีกเดือนละ ๓๖๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาและการบังคับคดีตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๕๑๖ ของศาลแพ่ง ให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนต่างๆให้โจทก์กลับเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ ๓๒๖๕ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถ้าไม่สามารถจะคืนที่ดินได้ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินค่าที่ดิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๓๖๐ บาท นับแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๗ จนกว่าจะชำระเสร็จกับชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีจากจำนวนเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ ๑ กับนางทรงนครามาก่อน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไปทำไร่ที่จังหวัดจันทบุรีนางทรงนคราได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ ๑ จึงฟ้องจำเลยที่ ๔ และโจทก์ต่อศาลแพ่งศาลได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการยกให้นั้น แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้ตั้งจำเลยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของนางทรงนคราแล้วจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ไปทำนิติกรรมการโอนและยกกรรมสิทธิ์ที่พิพาทครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ ๔ ส่วนที่เหลือเป็นของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จำเลยขอตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๔๖๑๗/๒๕๑๖ ซึ่งถึงที่สุดแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ทราบถึงการฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗ /๒๕๑๖ มานานแล้ว แต่ไม่สนใจต่อสู้คดีเอง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำให้ฟ้องและคำให้การแล้วสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๕๑๖ ของศาลแพ่ง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์มีใจความว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ นางทรงนคราภริยาจำเลยที่ ๑ ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินแปลงพิพาทให้โจทก์กับจำเลยที่ ๔ คนละครึ่ง โดยจำเลยที ๑ ได้ให้ความยินยอม เมื่อนางทรงนคราถึงแก่กรรมจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนการให้อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ให้ความยินยอมแก่นางทรงนคราในการโอนที่ดินแปลงพิพาทให้โจทก์กับจำเลยที่ ๔ ศาลแพ่งได้พิพากษาให้เพิกถอนการให้ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๕๑๖ คดีถึงที่สุด แล้วจำเลยสมคบกันนำคำพิพากษาไปเพิกถอนนิติกรรมยกให้และโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางทรงนครา แล้วจำเลยที่ ๒ โอนใส่ชื่อตนเองกับจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับมรดกและจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ ๔ ครึ่งหนึ่ง เช่นนี้ คำพิพากษาตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/ ๒๕๑๖ ย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ แม้ศาลแพ่งจะได้พิจารณาพิพากษาไปโดยโจทก์ (จำเลยในคดีนั้น) ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาคดีดังกล่าวนั้น กฎหมายได้บัญญัติวิธีการไว้แล้ว คือต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗,๒๐๘,๒๐๙ ซึ่งถ้าโจทก์ขอให้มีการพิจารณาใหม่และความจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีก่อนนั้นอาจถูกพิพากษาเพิกถอนไปได้โดยปริยาย การที่โจทก์มายื่นฟ้องคดีใหม่ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งศาลพิจารณาพิพากษาไปโดยโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้โจทก์แพ้คดีเช่นนี้ย่อมเป็นการชัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗,๒๐๘,๒๐๙ และการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ไปดำเนินการทางทะเบียนให้โจทก์กลับมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทตามที่นางทรงนคราทำนิติกรรมยกให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเห็นได้ชัดว่าศาลจะต้องรื้อฟื้นวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีของคดีหมายเลขแดงที่ ๕๖๑๗/๒๕๑๖ ซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้นอีก สารสำคัญแห่งการฟ้องคดีใหม่นี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคำฟ้องซึ่งศาลไม่พึงรับไว้พิจารณา
เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาคดีก่อนเสียแล้วคดีไม่อาจบังคับจำเลยที่ ๑ ตามคำขอท้ายฟ้องข้ออื่นๆของโจทก์รวมทั้งไม่อาจบังคับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ด้วย คำฟ้องของโจทก์ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่เป็นคำฟ้องอันพึงรับไว้พิจารณาเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share