คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนระหว่างอายุสัญญาโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยคือเข้าอยู่อาศัยใน สำนักงานของจำเลยกับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยา จำเลยให้ย้ายออก ก็ไม่ย้าย ในทันที และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลยที่ให้ลงชื่อ ในเช็คสองคนซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะ พนักงานอาวุโสจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน หรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 กรณีนี้ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เรื่อง การเลิกสัญญามาใช้บังคับได้ เพราะการจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญา ในบรรพ 3 ที่มีบทบัญญัติ ไว้เป็นพิเศษในมาตรา 583 อยู่แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นองค์การระหว่างประเทศและเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2530 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการผิดสัญญาว่าจ้างและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหาย ค่าจ้างที่เหลือ ค่าบำเหน็จ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มิได้มีวัตถุประสงค์แสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงสองประการ กล่าวคือ เข้าอยู่อาศัยในสำนักงานของจำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยมิชอบ เมื่อจำเลยที่ 2 สั่งให้ย้ายออกก็มิได้ย้ายออกไปในทันทีกับไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 ที่ให้ลงชื่อในเช็คสองคนซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะพนักงานอาวุโสและหัวหน้าสำนักงาน แต่เนื่องจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและไม่มีข้อกำหนดในสัญญาว่าหากโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะเลิกสัญญาได้ การเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยผิดสัญญา แต่การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และได้กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน300,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดจำนวน 209,479.20 บาท รวมเป็นเงิน 509,479.20 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 509,479.20บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 26 ธันวาคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 12
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงสองประการ กล่าวคือ เข้าอยู่อาศัยในสำนักงานของจำเลยที่ 1 กับผู้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตนโดยมิชอบ และเมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งให้ย้ายออกก็มิได้ย้ายออกไปในทันที กับไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้ลงชื่อในเช็คสองคนซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในฐานะพนักงานอาวุโสและหัวหน้าสำนักงาน ดังนี้จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 กรณีเช่นนี้ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ซึ่งอยู่ในบรรพ 2ลักษณะ 2 หมวด 4 เรื่องการเลิกสัญญามาใช้บังคับ เพราะการจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาในบรรพ 3 ที่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา583 อยู่แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 387 มาใช้บังคับและกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 209,479.20บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share