คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คนสัญชาติไทยซึ่งถูกทางราชการบังคับให้ไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยมิได้สมัครใจที่จะเข้าถือสัญชาติอื่นหรือสละสัญชาติไทย การรับใบสำคัญเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการรับใบสำคัญประจำตัวตาม กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวดังที่บัญญัติไว้ตาม มาตรา 16 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2495

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลย 15 คนรวม 15 สำนวนเป็นใจความว่าจำเลยเป็นคนไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรแต่บิดาเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน ได้ขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว หลังจากใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นต้นไปจำเลยไม่ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนท้องที่จนเกิน 30 วันขอให้ลงโทษ

จำเลยต่อสู้ว่าเป็นคนไทย จำเลยไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเพราะถูกบังคับ

ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 8, 21 และ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2495 มาตรา 5 ปรับคนละ 100 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าคดีได้ความว่าจำเลยเป็นคนไทยโจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยขาดสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 คือขาดโดยบทมาตรา 16 ทวิ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นคนไทยทางราชการบังคับให้ไปรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวโดยจำเลยไม่ได้สมัครใจเข้าถือสัญชาติอื่นหรือสละสัญชาติไทยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ตามความใน มาตรา 16 ทวิแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share