คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยอมรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้องทุกประการ ทั้งยอดหนี้รวม ยอดหนี้ซึ่งใช้เป็นฐานในการคิดดอกเบี้ยต่อไปตลอดทั้งกำหนดเวลาในการเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยอีก นอกจากนี้การตกลงประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลพิพากษาให้ข้อตกลงดังกล่าวบังเกิดผล จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมในหนี้เดิม ถือไม่ได้ว่าหนี้เดิมระงับและไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ และการที่โจทก์ตกลงให้เวลา 6 เดือน ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นับแต่วันที่ตกลงกัน จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็ต้องห้ามมิให้อ้างเป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดดังที่ระบุไว้ใน สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาดังกล่าว
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาจำนอง 4 แปลง แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุที่ดินจำนองตกไป 1 แปลง เป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์หลายครั้ง โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กับที่ ๕ เข้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ยังได้นำที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้กับโจทก์ด้วย โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ยอมรับผิดในส่วนที่ขาดจนครบ ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหนี้ แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ส่วนจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ไม่ได้ตกลงด้วย ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ต่อไป
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ประการแรกมีว่าการที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๙ (เอกสารอันดับที่ ๓๐ ในสำนวน) โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยินยอมชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ เป็นการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ตามฟ้องระงับ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเดิมจึงหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมูลหนี้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตกลงว่า จำเลยที่ ๑ ยินยอมชำระเงินจำนวน ๑๐,๒๔๐,๓๖๙.๖๕ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ในต้นเงิน ๘,๙๘๐,๖๙๙.๖๓ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ และจากยอดเงินจำนวน ๑๐,๒๔๐,๓๖๙.๖๕ บาท ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยินยอมชำระเป็นเงิน ๑,๗๐๗,๘๖๓.๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี ในต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะ ชำระเสร็จ ทั้งนี้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จะชำระหนี้ตามที่ยินยอมให้แก่โจทก์ภายใน ๖ เดือน นับแต่วันที่ดังกล่าว หากผิดนัด จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบจำนวนหนี้และโจทก์ยอมตามข้อตกลงดังกล่าวไม่ติดใจดำเนินคดีอีกต่อไป จากข้อความที่ปรากฏเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์เต็มตามฟ้องทุกประการ ทั้งยอดหนี้รวม ยอดหนี้ซึ่งจะใช้เป็นฐานในการคิดดอกเบี้ยต่อไปตลอดทั้งกำหนดเวลาในการเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยอีก ซึ่งมูลหนี้ตามฟ้องก็คือความรับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๑ มีต่อโจทก์ และความรับผิดตามสัญญา ค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีต่อโจทก์ เพียงแต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขอเวลา ๖ เดือน ในการชำระหนี้นับแต่วันที่ตกลงกันเท่านั้น นอกจากนี้การตกลงประนีประนอมยอมความที่ เกิดขึ้นขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลพิพากษาให้ ข้อตกลงดังกล่าวบังเกิดผล จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เท่านั้น มิได้มีผล เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าหนี้เดิมระงับ และถือไม่ได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยน สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ส่วนการที่โจทก์ตกลงให้เวลา ๖ เดือน ในการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ นับแต่วันที่ตกลงกัน จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ก็ถูกต้องห้ามมิให้กล่าวอ้างเป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิด ดังที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ ๓ เอกสารหมาย จ. ๒๔ และ จ. ๒๕ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จึงยังไม่ หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ ๔ และ ที่ ๕ อ้าง ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า ที่ดินที่จำเลยที่ ๑ จำนอง มี ๔ แปลง คือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๕๗๗๕๗, ๕๗๗๕๘, ๕๗๗๖๙ และ ๕๗๗๗๐ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ระบุที่ดินที่จำนองของจำเลยที่ ๑ เพียง ๓ แปลง ขาดไป ๑ แปลง คือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๕๗๗๖๙ จึงเป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมาโดยมิได้ แก้ไขศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๓
พิพากษายืน เว้นแต่ในกรณีบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๑ ให้บังคับเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๗๗๖๙ ด้วย

Share