คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การริบทรัพย์สินเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ไม่ว่าได้ยึดเอามาเป็นของกลางแล้วหรืออยู่ที่อื่น แต่ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีตัว เช่นถูกทำลายหรือสูญหายไป จะสั่งริบไม่ได้ เพราะไม่อาจจะตกเป็นของแผ่นดินได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยบังอาจมีปืนพก ๑ กระบอก กระสุนปืนลูกกรด ๑ นัด ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต แต่จำเลยนำปืนของกลางไปทิ้งในลำคลอง ค้นหาไม่พบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาวาจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ให้ปรับจำเลย ๓๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับจำเลย ๑๕๐ บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยส่งปืนของกลางหรือใช้ราคา นั้น ให้ยกคำขอข้อนี้เสีย แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งทำความเห็นแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การริบทรัพย์นั้นเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดินดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕ ฉะนั้น การที่จะสั่งริบทรัพย์สิน ๆ ที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ไม่ว่าได้ยึดเอามาเป็นของกลางแล้วหรืออยู่ที่อื่น แต่ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีตัว เช่น ถูกทำลายไป สูญหายไป หรือความมีอยู่ไม่ปรากฏเสียแล้ว เช่นนี้ จะสั่งริบไม่ได้ เพราะไม่อาจจะตกเป็นของแผ่นดินได้ เมื่อสั่งริบแล้ว วิธีการที่จะบังคับให้เป็นผลได้อย่างไร จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗ มิฉะนั้นก็จะเป็นว่าฝิ่นที่สูญไปแล้วก็ดี สุราเถื่อนที่กินไปแล้วก็ดี ก็สั่งริบและให้ใช้ราคาได้ ในกรณีนี้อาวุธปืนทิ้งน้ำในลำคลองไม่สามารถจะเอามาได้ ก็ต้องถือว่าสูญหายไม่มีตัวเสียแล้ว จึงสั่งริบไม่ได้
พิพากษายืน

Share