แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีโจทก์ ตามอำนาจที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 นั้น คำร้องของผู้เสียหายไม่ใช่คำฟ้องที่ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องคดีหนึ่งอีกต่างหากจากฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์เมื่ออำนาจฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์สำหรับคดีนั้นไม่มีต้องยกฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์แล้ว ย่อมเป็นผลตามกฎหมายที่ต้องยกฟ้องของผู้เสียหายโจทก์ร่วมไปด้วยเพราะไม่มีคำฟ้องเหลืออยู่ที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้(อ้างฎีกาที่ 1274/2481)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๐ เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์โดยสารขึ้นสะพาน ขับกินทางไปทางขวาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนรถจักรยานยนต์ที่จ่าสิบเอกพุฒ วงศ์ต่อม ขับขี่อย่างแรง จนจ่าสิบเอกพุฒได้รับบาดเจ็บสาหัสเหตุเกิดที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓๐, ๖๖
จ่าสิบเอกพุฒผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลภายใน๗๒ ชั่วโมง และมิได้ขอผัดฟ้องต่อศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ที่แก้ไขแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกจับวันที่ ๑๙สิงหาคม ๒๕๑๐ แล้วผู้ว่าคดีโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้องทั้งของโจทก์ร่วมด้วย
โจทก์ร่วมฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่า การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่มุ่งบัญญัติตัดสิทธิเฉพาะผู้ว่าคดีเท่านั้น โจทก์ร่วมยังคงมีอำนาจฟ้องในฐานะผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘(๒), ๒๙ และ ๓๐
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ว่าคดีโจทก์โดยถือเอาคำฟ้องเดิมของผู้ว่าคดีเป็นคำฟ้องของผู้เสียหาย ซึ่งศาลอนุญาตแล้ว เมื่อผู้ว่าคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เช่นนี้ โจทก์ร่วมซึ่งถือเอาตามคำฟ้องของผู้ว่าคดีที่ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว อำนาจฟ้องของโจทก์ร่วมก็ย่อมเสียไปด้วยโจทก์ร่วมจะอ้างสิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่ผู้ว่าคดีโจทก์ซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วยหาชอบไม่ พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ว่าคดีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะไม่ได้ปฏิบัติการตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๔ฟ้องผู้ว่าคดีโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา ๙ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯพ.ศ. ๒๔๙๙ แล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์โดยขอถือเอาคำฟ้องของผู้ว่าคดีเป็นคำฟ้องของผู้ร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐ ให้อำนาจไว้ ทั้งคำร้องนี้ก็ไม่ใช่คำฟ้องที่ถือได้ว่าเป็นคดีหนึ่งอีกต่างหากจากฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์เมื่อฟ้องของผู้ว่าคดีโจทก์ต้องยกฟ้องแล้ว การเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหายก็ย่อมตกไปด้วยเพราะไม่มีคำฟ้องของโจทก์ร่วมเป็นอีกคดีหนึ่งเหลืออยู่ที่จะให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้รูปเรื่องทำนองนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๔/๒๔๘๑
พิพากษายืน