คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 นั้น เป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค 2 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความที่สมควรได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว
ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของโจทก์นั้นจำเลยไม่ได้รับความเสียหายและจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียในผลกำไรขาดทุนในการขนส่งสินค้าระหว่าง ม. กับ บ. ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับ ม. อันเป็นลักษณะการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง จากพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (1)
เมื่อศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ของค่าจ้างอัตราเดือนละ 39,912 บาท คิดเป็นค่าชดเชย 239,472 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (3) แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 239,432 บาท แก่โจทก์ ซึ่งไม่ตรงกับส่วนวินิจฉัยและไม่ถูกต้องตรงตามสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) , 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 275,526 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 73,473.60 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 โจทก์สละสิทธิเรียกร้องในส่วนค่าเช่าบ้านหรือเงินอุดหนุนค่าที่พัก ค่าตอบแทนหรือเงินจูงใจเอ็มบีโอ (MBO) และเอ็มไอบี (MIB)
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 63,859.20 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 239,432 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับค่าชดเชย 239,432 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มิถุนายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในส่วนของค่าชดเชยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 นั้น เป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค 2 เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความที่สมควรได้รับดอกเบี้ยตามบทกฎหมาย ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 บัญญัติว่า ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง…” เมื่อศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์นั้นจำเลยไม่ได้รับความเสียหายและจำเลยมิได้มีส่วนได้เสียในผลกำไรขาดทุนในการขนส่งสินค้าระหว่างบริษัทมหานครพนมทรานสปอร์ต จำกัด กับบริษัทบูรพาก้าวไกลขนส่ง จำกัด ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพฤติกรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทมหานครพนมทรานสปอร์ต จำกัด อันเป็นลักษณะการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จากพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงอันจะถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เช่นกัน ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้
อนึ่ง เมื่อคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 เกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนวินิจฉัยได้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ของค่าจ้างอัตราเดือนละ 39,912 บาท คิดเป็นค่าชดเชย 239,472 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (3) แล้ว แต่ในส่วนพิพากษากลับพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 239,432 บาท แก่โจทก์ ซึ่งไม่ตรงกับส่วนวินิจฉัยและเป็นการพิพากษาไม่ถูกต้องตรงตามสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 239,472 บาท แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 239,472 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2

Share