แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อมีข้อความว่า ในกรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อเกิดสูญหายหรือเสียหายผู้เช่าซื้อยอมใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่เจ้าของโดยจะไม่ยกเหตุสุดวิสัย อัคคีภัย โจรกรรมมาเป็นเหตุลบล้างความรับผิดชอบ ดังนี้ เมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกไฟไหม้เสียหายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อก็จะต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของ แม้สัญญาเช่าซื้อจะระงับเพราะวัตถุแห่งสัญญาสูญหายหรือถูกทำลายความรับผิดของผู้เช่าซื้อก็ยังมีอยู่ตามข้อสัญญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อตู้เย็นน้ำมันก๊าสไปจากโจทก์ ๑ ตู้ราคา ๑๙,๒๖๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาเกิดอัคคีภัยไหม้ร้านของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้ตู้เย็นเสียหายหมดสิ้น ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ใช้ราคาทรัพย์หากไม่สามารถชำระ ให้จำเลยที่ ๒, ๓ ชำระ
จำเลยที่ ๑, ๒ ต่อสู้ว่า บ้านเรือนของจำเลยที่ ๑ ถูกไฟไหม้มิใช่การกระทำของจำเลย ตู้เย็นหนักขนไม่ทันจึงถูกไฟไหม้ สัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องขัดต่อความสงบเป็นโมฆะ จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแล้ว
สำหรับจำเลยที่ ๓ ส่งหมายเรียกไม่ได้ โจทก์ขอถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑๖,๔๓๐ บาทแก่โจทก์ โดยหักค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้ว ๒,๘๓๐ บาท ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยที่ ๑, ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑, ๒ ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อในวันทำสัญญา ๒,๓๐๐ บาท และสัญญาจะชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ ๕๓๐ บาท จนกว่าจะครบถ้วน จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ได้เอาตู้เย็นที่เช่าซื้อไปตั้งไว้ที่บ้านของจำเลยที่ ๑ ซึ่งทำเป็นโรงแรม ต่อมาไฟไหม้โรงแรมของจำเลยที่ ๑ ตู้เย็นได้รับความเสียหายหมดสิ้น มีปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้ราคาตู้เย็นให้โจทก์อีกหรือไม่
สัญญาเช่าซื้อข้อ ๗ มีความว่า “ในกรณีที่ทรัพย์สินที่กล่าวเกิดสูญหายหรือเสียหายจนไม่อาจแก้ไขซ่อมแซมให้คืนดีได้ ผู้เช่าสัญญาจะใช้ราคาทรัพย์สินที่เช่าให้แก่เจ้าของ โดยเจ้าของยอมให้หักจำนวนเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าได้ชำระไว้แล้วได้ และผู้เช่าสัญญาจะไม่ยกเหตุสุดวิสัย อัคคีภัย โจรกรรม ขึ้นมาเป็นเหตุลบล้างความรับผิดชอบตามข้อสัญญานี้”
จำเลยฎีกาว่า ตู้เย็นถูกไฟไหม้เพราะเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ เมื่อวัตถุแห่งสัญญาสูญหายหรือถูกทำลายลงเช่นนี้สัญญาเช่าย่อมระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๕๗๒ สัญญาเช่าซื้อข้อ ๗ จึงไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อจะระงับไปก็ตาม แต่ความรับผิดของจำเลยก็ยังมีอยู่ตามข้อสัญญา จำเลยจะปฏิเสธหาได้ไม่และในชั้นฎีกานี้ จำเลยก็มิได้ยกข้อต่อสู้ที่ว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ ๗ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังที่ได้ยกขึ้นในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้
พิพากษายืน