คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ 2 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสามเถียงว่า โจทก์ลวงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกผันเป็นผู้กู้ไว้ก่อน อีกทั้ง อ. พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อสาขาหาดใหญ่ของโจทก์มาเบิกความรับรองด้วยว่า หลังจากโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 กู้จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วโดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้กู้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องสัญญาค้ำประกันไว้แต่อย่างใดจึงนอกคำให้การของจำเลยที่ 2 และนอกประเด็น
แม้การจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้จะทำขึ้นก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 707 ว่าด้วยจำนอง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร” กล่าวโดยเฉพาะ ตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าวหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 73,230,083.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 52,420,044.36 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 59,726,284.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ขอต้นเงินจำนวน 42,753,665.01 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบ
จำเลยทั้งสามให้การและแก้คำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 73,230,083.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 52,420,044.36 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ดังกล่าวจำนวน 59,726,284.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินจำนวน 42,753,665.01 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 11 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เป็นประกันการชำระหนี้รายนี้ทุกรายการออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแทน หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 200,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์หรือไม่ และต้องรับผิดเพียงใด ปัญหานี้นอกจากโจทก์จะมีหนังสือสัญญากู้ฉบับจำนวนเงิน 50,000,000 บาท และฉบับจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามเถียงว่า โจทก์ลวงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกพันเป็นผู้กู้ไว้ก่อน มาแสดงแล้ว ยังได้ความจากนายอภิชาติ พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อสาขาหาดใหญ่ของโจทก์มาเบิกความรับรองด้วยว่า หลังจากสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 กู้ จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนเหล่านี้ไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังปรากฏตามหลักฐานแสดงการรับเงินกู้โดยจำนอง ฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 และฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 ที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ ส่วนฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างใด นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 เองยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับเกี่ยวกับสำเนา (การ์ด) บัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างมาสนับสนุนคดีด้วยว่า ตามหลักฐานใบรับเงินทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ระบุวันที่และจำนวนเงินถูกต้องตรงกันกับที่ระบุไว้ในสำเนา (การ์ด) บัญชีกระแสรายวัน อันเจือสมด้วยพยานหลักฐานโจทก์สนับสนุนให้ข้อนำสืบของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ยิ่งขึ้น ดังนั้น ลำพังคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 เพียงลงชื่อในสรรพเอกสารให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปตามที่ชี้ชวนว่าเพื่อให้โจทก์มั่นใจสามารถจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 เกินบัญชีสินเชื่อเดิม หากโจทก์นำไปกรอกข้อความจะได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ และจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับเงินใด ๆ จากโจทก์ จึงปราศจากเหตุผล ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้และแม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยืนยันความถูกต้องแท้จริงของสำเนา(การ์ด) บัญชีกระแสรายวัน เนื่องจากเอกสารดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้ทำขึ้นเอง แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาพิสูจน์หักล้างบัญชีเงินกู้รายตัว เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงฟังเป็นอย่างอื่นว่า ยอดจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์เป็นดอกเบี้ยและต้นเงินที่ปรากฏตามสำเนา (การ์ด) บัญชีกระแสรายวันนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างใด หรือโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ที่โจทก์ใช้เป็นฐานในการคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ตามที่ปรากฏในสำเนา (การ์ด) บัญชีกระแสรวยวัน หรือจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้คืนแก่โจทก์ทั้งหมดแล้ว เช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ตามจำนวนในฟ้องที่จำเลยทั้งสามเถียงในฎีกาว่า ไม่ควรเชื่อถือรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์เพราะไม่ปรากฏมีพยานปากใดของโจทก์พบเห็นจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้กู้ และโจทก์เพิ่งโอนเงินตามสัญญากู้แก่จำเลยที 1 ล่วงเลยหลังจากวันทำสัญญาเนิ่นนานเป็นเดือนกับโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้คืนด้วยวิธีใด นอกจากนี้นายอภิชาติพยานโจทก์ยังเบิกความถึงการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อผู้กู้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกล่าวทวงถามและบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ตอบรับด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับแล้ว หากจำเลยที่ 1 มิได้กู้เงินและไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็น่าจะโต้แย้งคัดค้านไว้ มิใช่นิ่งเฉย ส่วนที่โจทก์เพิ่งโอนเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 มิได้โอนให้ในวันทำสัญญากู้ ก็ได้ความจากนายอภิชาติว่า เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์เพิ่งเริ่มคิดดอกเบี้ยเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ นอกจากนั้น ที่นายอภิชาติพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ (ทั้ง 2 สัญญา) ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2535 และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2537 นั้น ก็เป็นเพียงเรื่องการเบิกความผิดพลาดไป ซึ่งมิใช่ข้อสำคัญ หาเป็นพิรุธดังที่จำเลยทั้งสามอ้างเป็นข้อฎีกาไม่ เพราะตามรายการบัญชี จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2539 ซึ่งตรงกับคำฟ้องของโจทก์ และวันที่ 26 ตุลาคม 2535 ดังกล่าวเป็นวันทำสัญญากู้เงินจำนวน 50,000,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในประการนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องสัญญาค้ำประกันไว้แต่อย่างใด ฎีกาในประการนี้จึงนอกคำให้การของจำเลยที่ 2 และนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า จำเลยที่ 3 จะต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาจำนองต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนายอภิชาติพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปตามหนังสือสัญญากู้ รวม 2 จำนวน เป็นเงิน 50,000,000 บาท และ 10,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 กับที่ 3 และจำเลยที่ 2 ลำพังทำสัญญาค้ำประกันเพื่อค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว และนายอภิชาติเองได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาค้ำประกันด้วย ฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาหักล้างว่า สัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับดังกล่าวไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างใด เพราะเหตุใด มีเพียงจำเลยที่ 3 ลำพังเบิกความว่า จำเลยที่ 3 ไม่ยืนยันว่า ลายมือชื่อในช่องค้ำประกันเป็นลายมือของจำเลยที่ 3 หรือไม่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกบังคับหรือถูกข่มขู่ให้ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันและในหนังสือมอบอำนาจให้ทำสัญญาจำนอง รวมทั้งการที่ต่างได้ลงชื่อในบันทึกจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วย เมื่อประกอบกับในชั้นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามและบังคับจำนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็หาได้ปฏิเสธการเป็นหนี้ดังที่ถูกทวงถาม ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์นำเอกสารต่าง ๆ ไปจกทะเบียนจำนองโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบจึงรับฟังไม่ได้ ตรงกันข้าม การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับว่าต่างลงลายมือชื่อในสรรพเอกสารตามฟ้องซึ่งยังมิได้กรอกข้อความโดยมอบโฉนดที่ดินและใบมอบฉันทะที่ลงชื่อแล้วให้โจทก์ไว้เพื่อไปจดทะเบียนจำนองดังกล่าว เมื่อต่อมามีการจดทะเบียนจำนองกันตามกฎหมายก็ย่อมเป็นกรณีต้องรับฟังเป็นจริงตามรายละเอียดในเอกสารสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง และข้อตกลงขึ้นเงินจำนองที่โจทก์เสนอแสดงต่อศาลดังที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาต้องกันมา ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาโต้แย้งเป็นข้อสำคัญว่า สัญญาจำนองเป็นการจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้ก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 การจำนองดังกล่าวจึงเป็นโมฆะบังคับแก่กันไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 ว่าด้วยการจำนอง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร” กล่าวโดยเฉพาะ ตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น ในกรณีนี้หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าว เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 หนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้ จำเลยทั้งสามผู้จำนองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในประการนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 10,000 บาท

Share