คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์โดยประมาทและจำเลยที่ 2 นายจ้างของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ประนีประนอม-ยอมความกับโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน300,000 บาท แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ในวันนัดสืบพยานโจทก์โจทก์ทั้งสองแถลงว่า ได้รับเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน300,000 บาท แต่ไม่ใช่เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงไม่จำต้องนำพยานเข้าสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงิน 300,000 บาทให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วอีก เมื่อคดีมีประเด็นเพียงว่าได้มีการทำสัญญาประนีประนอม-ยอมความกันแล้วหรือไม่ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่ได้เป็นการทำสัญญาประนีประนอม-ยอมความกัน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1และที่ 2 แต่ต้องหักเงิน 300,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วออกจากค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้อง จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งสองฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ชดใช้แก่โจทก์ทั้งสองมีผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทอันเป็นความผิดอาญา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสอง แม้จะไม่ครบถ้วนตามจำนวนเงินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก็ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนหนึ่งแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายส่วนที่ตนได้รับชดใช้แล้วได้อีกเพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน การที่ศาลอุทธรณ์ให้นำเงินดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองชอบแล้ว

Share