แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา จะมาโต้เถียงในชั้นบังคับคดีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดและศาลชั้นต้นลงโทษปรับหนักเกินไปหาได้ไม่ หากศาลฟังข้ออ้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190
ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับอีกวันละ 500 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น หมายความว่า จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ” มาตรา 65 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21… ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และในวรรคสองบัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21… ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าปรับวันละ 500 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 21 กล่าวคือ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือใบรับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ แล้ว
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติใดให้การชำระค่าปรับรายวันสะดุดหยุดอยู่หรือให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งทุเลาหรืองดการบังคับชำระค่าปรับไว้ชั่วคราวในระหว่างที่จำเลยทั้งสองกำลังดำเนินคดีเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารอันเป็นหลักฐานในการยื่นขอใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ คงมีแต่เพียงบทบัญญัติที่ให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 246 เท่านั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 1,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 กับปรับอีกวันละ 500 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
โจทก์ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลบังคับคดีปรับจำเลยทั้งสองวันละ 500 บาท ตามคำพิพากษาจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว จึงขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนได้ความว่า ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาคดีนี้จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างดัดแปลงอาคารตามฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลบางไผ่ มีหนังสือตอบว่า การก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารนั้นมีเหตุขัดข้องไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ได้แก่ สำเนาโฉนดที่ดินที่ตั้งอาคารนั้นยังมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องร้องเรื่องครอบครองปรปักษ์และคดียังไม่ถึงที่สุด โดยจำเลยทั้งสองแถลงว่า หากคดีดังกล่าวถึงที่สุดและจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ ก็จะนำคำพิพากษาไปเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนเพื่อดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องต่อไป แต่หากผลคำพิพากษาจำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองยินดีจะรื้อถอนอาคารนั้นออกไปจากที่ดินดังกล่าว
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้องและศาลชั้นต้นลงโทษปรับ วันละ 500 บาท เป็นอัตราโทษที่หนักเกินไปนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพากษาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด ต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา จะมาโต้เถียงในชั้นบังคับคดีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดและศาลชั้นต้นลงโทษปรับหนักเกินไปหาได้ไม่ หากศาลฟังข้ออ้างของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในค่าปรับวันละ 500 บาท เป็นระยะเวลาเท่าใด เห็นว่า ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับอีกวันละ 500 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น หมายความว่า จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ” มาตรา 65 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21…ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และในวรรคสองบัญญัติว่า “นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21…ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าปรับวันละ 500 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 21 กล่าวคือ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือใบรับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อไปจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่า การที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นเพราะว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินซึ่งเป็นสถานที่ซ่อมแซมห้องน้ำและห้องครัวที่เป็นมูลเหตุให้จำเลยทั้งสองถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชนะคดีตามศาลล่าง จำเลยทั้งสองสามารถที่จะนำคำพิพากษาไปเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ นำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอรับใบอนุญาตได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติใดให้การชำระค่าปรับรายวันสะดุดหยุดอยู่หรือให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งทุเลาหรืองดการบังคับชำระค่าปรับไว้ชั่วคราวในระหว่างที่จำเลยทั้งสองกำลังดำเนินคดีเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารอันเป็นหลักฐานในการยื่นขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ คงมีแต่เพียงบทบัญญัติที่ให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน