แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคแรก จำคุก1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 7,72 วรรคสาม จำคุก 6 เดือน ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุก 6 เดือนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษเป็น มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง,72 ทวิ วรรคสอง ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดทั้งสองฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 ซ้อนท้ายโดยจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวไป เมื่อพบผู้เสียหายทั้งสามกับพวกกำลังคุยกันอยู่ จำเลยที่ 1 ก็ยิงปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสาม อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงถ้าหากยิงถูกอวัยวะสำคัญอาจถึงตายได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสาม จำเลยทั้งสองลงมือกระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนถูกอวัยวะไม่สำคัญจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้นและกระสุนปืน 1 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปตามถนนสาธารณะและอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายกมล ปันแก้ว นายสว่าง อินทนนท์และนายบุญส่ง ซาวเส้าผู้เสียหายทั้งสาม 1 นัด โดยเจตนาฆ่าอันเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การกระทำไม่บรรลุผลขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 91, 288, 289, 371 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคแรกมาตรา 8 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดสามกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคแรก ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 13 ปี 6 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 ปี รถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำผิดจึงให้ริบ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา8 ทวิ วรรคแรก), 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานมีอาวุธปืนจำคุกคนละ 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกคนละ 12 ปี12 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 ปี8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคสาม จำคุก 6 เดือนต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุก 6 เดือนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษเป็นมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง,72 ทวิ วรรคสอง ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดทั้งสองฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสามหรือไม่ เห็นว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 1 ซ้อนท้าย โดยจำเลยที่ 1มีอาวุธปืนลูกซองสั้นติดตัวไป เมื่อพบผู้เสียหายทั้งสามกับพวกกำลังคุยกันอยู่ จำเลยที่ 1 ก็ยิงปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสามอาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรงถ้าหากยิงถูกอวัยวะสำคัญอาจถึงตายได้การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสาม จำเลยทั้งสองลงมือกระทำไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนถูกอวัยวะไม่สำคัญ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน