คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 339 ริบหมวกไหมพรม กระดาษกาวแล็กซีน และผ้าเทปกาวสีดำ ของกลาง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนจี้พระเลี่ยมทอง (พระสมเด็จจิตรลดา) 1 องค์ ราคา 6,000 บาท นาฬิกาเรือนทอง 1 เรือน ราคา 3,000 บาท และบัตรเอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารละ 1 ใบ รวม 4 ใบ หรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 9,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2802/2552 ของศาลจังหวัดร้อยเอ็ด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 12 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 ลงโทษจำคุก 8 ปี คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี ริบหมวกไหมพรม และกระดาษกาวแล็กซีนของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนจี้พระสมเด็จจิตรลดาเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 6,000 บาท นาฬิกาเรือนทอง 1 เรือน ราคา 3,000 บาท บัตรเอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 4 ใบ หรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 9,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้คืนกระดาษกาว (ที่ถูก ผ้าเทปกาว) สีดำแก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นทหารอยู่ที่ค่ายสมเด็กจพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนนายศุภลักษณ์ ผู้เสียหาย พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับนางทิพวรรณ ซึ่งเป็นน้าที่บ้านเลขที่ 70 หมู่ 4 ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด และรับราชการอยู่ด้วยกันที่โรงพยาบาลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้เสียหายทำงานตำแหน่งพนักงานรังสีการแพทย์จนถึงเดือนตุลาคม 2548 จึงย้ายไปรับราชการที่โรงพยาบาลสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ในตำแหน่งพนักงานรังสีการแพทย์ระดับ 5 สำหรับจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวแผนกเอกซเรย์ ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกรังสีวินิจฉัยที่โรงพยาบาลเกษตรวิสัย เมื่อปี 2549 ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 ผู้เสียหายย้ายกลับมารับราชการที่โรงพยาบาลเกษตรวิสัย ตำแหน่งพนักงานรังสีการแพทย์ระดับ 6 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกแทนจำเลยที่ 2 และมีบริษัทจำหน่ายฟิล์มเอกซเรย์แจ้งโรงพยาบาลเกษตรวิสัยให้ชำระค่าฟิล์มเอกซเรย์ที่สั่งซื้อไปก่อนหน้านั้น แต่ผู้เสียหายไม่อาจตรวจจ่ายเงินได้ เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลทราบเรื่องได้เรียกผู้เสียหายกับจำเลยที่ 2 ไปพบและแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ทำผิดระเบียบ มีโทษถึงไล่ออก ผู้เสียหายได้ขอร้องผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้จำเลยที่ 2 เซ็นจ่ายเงินตามใบเสร็จ แล้วโรงพยาบาลได้จ่ายเงินแก่บริษัทดังกล่าวไป เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรรัตนบุรีว่า ในวันดังกล่าวเวลา 12 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน ตช 9415 กรุงเทพมหานคร ออกจากโรงพยาบาลไปรับประทานอาหารที่บ้านแล้วจอดรถไว้หน้าบ้าน และถูกคนร้าย 2 คน ใช้วัตถุลักษณะคล้ายอาวุธปืนจี้บริเวณสีข้างบังคับให้ผู้เสียหายเข้าไปนั่งในรถกระบะโดยคนร้ายขับรถกระบะคันดังกล่าวไปทางจังหวัดสุรินทร์ และเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ราคา 13,000 บาท จี้พระเลี่ยมทองหนัก 50 สตางค์ 1 องค์ ราคา 6,000 บาท นาฬิกาเรือนทอง 1 เรือน ราคา 3,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด ราคา 2,000 บาท บัตรเอทีเอ็ม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารละ 1 ใบ รวม 4 ใบ ของผู้เสียหายไป และทิ้งผู้เสียหายไว้ในป่ายูคาลิปตัส ที่ตำบลรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ แล้วขับรถหนีไป ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายและบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำโดยวิธีใดก็ได้อันทำให้ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจึงย่อมรวมถึงการชิงทรัพย์ด้วย ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา เป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่นหรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัว ไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหาย อันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย กรณีจึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 วรรคแรก จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ให้ข้อมูลของผู้เสียหายแก่จำเลยที่ 1 และพาจำเลยที่ 1 ไปดูบ้านผู้เสียหาย 2 ครั้ง จึงถือว่าเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนการกระทำความผิด อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share