แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ให้การและให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนแตกต่างกันทั้งๆที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ศึกษาวิชากฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิตจึงนับว่าเป็นข้อพิรุธ พยานหลักฐานดังกล่าวหาใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยที่ 1 อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด จึงไม่เป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกันและกฎหมายมิได้ห้ามโจทก์อ้างผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยมาเป็นพยานด้วย เมื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นคำเบิกความในคดีอื่น ไม่ใช่คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นพยาน อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษารอการลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่จะนับโทษต่อได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 175, 177, 180, 264, 266, 268 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2550 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2681/2554 ของศาลแขวงพระนครใต้ กับนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลนี้
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 264, 266, 268 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าวส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยทั้งสองรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 2.5 ถึง 2.7 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (2) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2550 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2681/2554 (ที่ถูก คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557) ของศาลแขวงพระนครใต้ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนึ้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ และขอถอนฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3262/2550 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำเบิกความเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งการตายของนายศักดิ์ ให้โจทก์และญาติของนายศักดิ์ทราบ เหตุที่ค้นพบพินัยกรรมไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 การนำคำให้การเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ และการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ศึกษาวิชากฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิต มารับฟังแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้เอกสารปลอม ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมของนายศักดิ์ และใช้พินัยกรรมปลอม ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 พักอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนายศักดิ์ เจ้ามรดกมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งนายศักดิ์ถึงแก่ความตาย ความมีอยู่ของพินัยกรรมย่อมเป็นสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำเบิกความเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งการตายของนายศักดิ์ให้โจทก์และญาติของนายศักดิ์ทราบ ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นบุตรเพียงคนเดียวของนายศักดิ์ เหตุที่ค้นพบพินัยกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่จำเลยที่ 1 ให้การและให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ศึกษาวิชากฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิตจึงนับว่าเป็นข้อพิรุธ พยานหลักฐานดังกล่าวหาใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยที่ 1 อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใดไม่ การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเช่นนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้เอกสารปลอมจึงไม่เป็นกรณีที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการที่สองมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีอื่นแล้ววินิจฉัยว่าพินัยกรรมเป็นของปลอมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้เอกสารปลอม อันจะถือว่าเป็นการที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นพยาน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 บัญญัติว่า ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงจำเลยในคดีเดียวกัน และกฎหมายมิได้ห้ามโจทก์อ้างผู้ที่กระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยมาเป็นพยานด้วย เมื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นคำเบิกความในคดีหมายเลขแดงที่ 2854/2553 ของศาลแพ่ง และคดีหมายเลขดำที่ 4037/2555 ของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นพยานอันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายมีว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้แล้ว และคดีอยู่ในระหว่างการนัดฟังคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามเอกสารประกอบท้ายฎีกา ดังนั้น จึงไม่มีโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้จะไปนับโทษต่อได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากคดีทั้งสองดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์