คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1573/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรรมการลูกจ้างขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา ลูกจ้างเคยทำผิดขัดคำสั่งมาแล้ว และได้ตักเตือนเป็นหนังสือ ถูกลงโทษพักงานและละทิ้งหน้าที่ นายจ้างร้องต่อศาลแรงงานขอเลิกจ้างได้ ลูกจ้างไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยมิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ อันศาลแรงงานจะมีอำนาจสั่งเกินคำขอได้ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52 ศาลฎีกายกคำสั่งศาลแรงงานกลางในข้อนี้

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำสั่งศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างกระทำความผิดฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ขนฟืนสำรอง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้าน ก่อนการกระทำความผิดดังกล่าว ผู้คัดค้านได้กระทำความผิดมาแล้ว คือขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ลำเลียงฟืนเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2522 ถูกลงโทษพักงาน 5 วันและตักเตือนเป็นหนังสือ และละทิ้งหน้าที่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2522 ถูกตักเตือนเป็นหนังสือคดีมีปัญหาว่าที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้น ชอบหรือไม่

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ เพราะนำเอาเหตุการณ์ในวันที่26 มีนาคม 2522 มาประกอบการวินิจฉัยด้วยว่า ผู้คัดค้านเคยขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาในวันดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ผู้คัดค้านถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่งในวันนั้น เป็นคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้งสั่งผู้คัดค้าน ไม่ชอบที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาที่ว่าผู้บังคับบัญชาสั่งผู้คัดค้านโดยกลั่นแกล้งหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่กลั่นแกล้ง อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ผู้คัดค้านอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ความผิดของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างนี้ มิใช่ความผิดร้ายแรง และถือไม่ได้ว่ามีการว่ากล่าวตักเตือนแล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3)ผู้ร้องต้องห้ามมิให้เลิกจ้างผู้คัดค้านตามมาตรา 123 ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้าง จึงไม่ชอบพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 123 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในการเรียกร้องทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกันนี้ แต่ผู้คัดค้านในคดีนี้มิได้เกี่ยวข้องในการเรียกร้องทำข้อตกลงอย่างใดกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงไม่ได้รับความคุ้มครองที่จะมิให้นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 123 ดังนั้น ความผิดดังกล่าวจะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123(3) หรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของผู้คัดค้าน คำสั่งศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนั้น ชอบแล้ว

ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า หากผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้เพราะเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 123 นั้น เห็นว่าประเด็นเรื่องค่าชดเชยผู้คัดค้านมิได้ยกขึ้นนำมาในศาลแรงงานกลาง จึงวินิจฉัยให้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏคดีนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้าง โดยที่ผู้ร้องมิได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องนี้ จึงมีปัญหาว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหานี้แล้ว เห็นว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในเรื่องค่าชดเชยดังกล่าว มิใช่เป็นกรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอันศาลจะมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้ตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 คำสั่งดังกล่าวจึงต้องห้ามตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวคำพิพากษาศาลแรงงานกลางข้อนี้ไม่ชอบ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งว่าผู้ร้องไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”

Share