คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจ ของศาลโดยพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าสมควรหรือไม่ เป็นการถอนฟ้องไปเพื่อเจตนาที่จะฟ้องใหม่ โดยแก้ไขฟ้องเดิมที่บกพร่องอันเป็นการเอาเปรียบในเชิง คดีกับอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะคัดค้าน แต่ศาลก็ใช้ดุลพินิจ อนุญาต ให้โจทก์ถอนฟ้องได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3ถึงแก่กรรมก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์จะต้องแจ้งการบังคับจำนองไปยังทายาทของจำเลยที่ 3 ก่อน จึงขอถอนฟ้องเพื่อดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า หากศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ถอนฟ้องก็จะทำให้จำเลยที่ 4 เสียเปรียบและได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีใหม่ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 4 อุทธรณื
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ถึงแม้จำเลยที่ 4 จะคัดค้านการถอนฟ้องของโจทก์ก็ตามแต่การที่ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาล โดยพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นว่าสมควรหรือไม่ประการใด เป็นการถอนฟ้องไปเพื่อเจตนาที่จะฟ้องใหม่โดยแก้ไขฟ้องเดิมที่บกพร่องอันเป็นการเอาเปรียบในเชิงคดีกับอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 ก็ไม่มีข้อบกพร่องปรากฏให้เห็นว่าจะเป็นการถอนฟ้องไปเพื่อฟ้องใหม่อันเป็นการเอาเปรียบในเชิงคดีแต่โจทก์มีความจำเป็นสำหรับจำเลยอื่นที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน โดยข้อเท็จจริงที่เป็นที่มาแห่งความจำเป็นนี้ปรากฏแก่โจทก์หลังจากฟ้องคดีไปแล้ว ถ้าจะถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่จำเป็นโดยไม่ถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ทั้งหมดก็จะทำให้ต้องมีการพิจารณาคดีในหนี้ที่โจทก์ฟ้องถึงสองครั้งเป็นการเสียเวลาในการดำเนินคดีโดยไม่จำเป็น ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปนั้นจึงเป็นการชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share